พีคในพีค “ทรัมป์ติดโควิด” เพิ่มความไม่แน่นอนเข้าไปในความไม่แน่นอน ซึ่งมีเยอะอยู่แล้วในตลาด กดหุ้นร่วงลงส่งท้ายปลายสัปดาห์
ไบเดนนำห่าง 14% เหนือทรัมป์ ในผลโพลจัดทำโดย NBC News/Wall Street Journal สำรวจความเห็นชาวอเมริกันผู้ลงทะเบียนเลือกตั้ง 800 คนทางโทรศัพท์ พุธ-พฤหัสฯ ช่วงหลังดีเบตแต่ก่อนที่จะรู้ว่าทรัมป์ติดโควิด
เราไม่กังวลเลือกตั้งปธน.สหรัฐอยู่แล้ว เพราะทรัมป์อุ้มชูตลาดหุ้นชัดเจน ส่วนไบเดนผู้ท้าชิงเป็นนักการเมืองสายกลางไม่สุดโต่ง แม้ชูนโยบายขึ้นภาษีนิติบุคคล แต่พรรคเดโมแครตของเขาก็ชอบใช้จ่าย มีโครงการขนาดใหญ่เช่น ลงทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไบเดนมีบุคลิกแบบคนปกติมากกว่า มิได้คาดเดายากเท่าทรัมป์ ช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะด้านภูมิรัฐศาสตร์ risk premium ในตลาดการเงินจึงน่าจะปรับตัวลดลง ดังนั้น ไม่ว่าใครชนะก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อหุ้นขาขึ้นระยะยาว แม้ระยะสั้นอาจผันผวนด้วยกระแสเก็งกำไร แต่ก็เปิดโอกาสดีๆในการเข้าซื้อลงทุน
ส.ส.เดโมแครตในสภาล่าง โหวตอนุมัติแพคเกจกระตุ้น $2.2 ล้านล้าน ทั้งที่รู้ว่า ส.ว.รีพับลิกัน ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาบน ไม่ยอมรับตัวเลขนี้
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงคะแนน 214-207 ผ่านร่างฯดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสฯโดย 18 ส.ส. เดโมแครตเสียงแตกโหวตคัดค้าน
การเจรจาสุดหิน เลยเถิดจนทะลุจุดพูดคุยกันตามธรรมดาไปแล้ว หลังจาก รมว.คลัง Steven Mnuchin ยื่นข้อเสนอ $1.6 ล้านล้าน แต่ช่องว่าง $6 แสนล้านมันยังห่างเกินไป ไม่ถึงใจประธานสภาผู้แทนฯ Nancy Pelosi ที่ตัดสินใจเปิดโหวตไปเลย ลากให้ไปเล่นการเมืองกันนอกเกมปกติ
สถานการณ์ทำนองนี้มีให้เห็นบ่อย การเจรจายากลำบากลากกันจนเลยเส้นตาย สุดท้ายจบด้วยโซลูชั่นไม่ธรรมดา สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อหาจุดสมดุล
เดโมแครตได้เปรียบ เพราะเรียกร้องยอดเงินช่วยเหลือสูงลิ่ว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยากได้ ต่างจากรีพับลิกัน “สายเหยี่ยว” เอาแต่คุมยอดขาดดุลงบประมาณ ทั้งที่รู้แก่ใจว่ามันมีแต่จะบานไปเรื่อยๆ...คุมไม่ได้อยู่แล้ว
ฐานเสียง #สายเขียม ของรีพับลิกัน จะหันไปเลือกนักการเมืองเดโมแครต #สายเปย์ กระนั้นหรือ? ถ้าสุดท้ายวุฒิสภาทนแรงกดดันไม่ไหว โหวตอนุมัติแพคเกจใหญ่ตามความต้องการของสภาล่าง “ทางถอย” ของรีพับลิกันดูแล้วจึงไม่ต้องเสียอะไรมาก เรายืนยันมุมมอง “แพคเกจต้องมี QE ต้องมา” ไม่ว่าด้วยวิธีพิเศษใดๆ เพราะหาไม่แล้วเศรษฐกิจสหรัฐคงเดินต่อไปไม่ได้
บริษัทญี่ปุ่นจุดพลุ M&A บูมรอบนี้ ด้วย 2 ดีลใหญ่ไซส์พอกัน $4 หมื่นล้าน SoftBank Group จะขายบริษัทออกแบบชิพสัญชาติอังกฤษ ARM ให้แก่ยักษ์อเมริกัน Nvidia ขณะ Nippon Telegraph and Telephone (NTT) เพิ่งประกาศ “buyout” เตรียมนำบริษัทลูกผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ NTT Docomo ออกนอกตลาด ดันราคาหุ้นลูกทะยาน +40% ใน 2 วันทำการ
Parent-Child Listings บริษัทแม่-ลูก จดทะเบียนในตลาดทั้งคู่ อย่างกรณี NTT กับ NTT Docomo นั้นโลกพัฒนาแล้วไม่ค่อยทำกัน แต่ญี่ปุ่นมีเยอะ
ความพยายามพัฒนาธรรมาภิบาล (corporate governance) เพิ่มความโปร่งใสในโครงสร้างผู้ถือหุ้น ตามความต้องการของบรรดานักลงทุนสถาบัน จึงเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนบริษัทญี่ปุ่น ให้เข้าสู่คลื่นระลอกใหม่ของ M&A
บริษัทญี่ปุ่นมักประกาศ M&A ในฤดูเผยผลประกอบการ (earnings season) ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. (แหล่งข้อมูล Bloomberg, Reuters)
ญี่ปุ่นเพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “โยชิฮิเดะ ซูงะ” อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งชาวญี่ปุ่นคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่แล้ว เพราะเขาเคยนำทีมโฆษกรัฐบาลแถลงข่าววันละ 2ครั้ง ในฐานะคนสนิทของ ชินโซ อาเบะ ที่ลาออกไปเมื่อเดือน ก.ย. ด้วยปัญหาสุขภาพ หลังดำรงตำแหน่งนายกฯยาวนานเกือบ 8 ปี รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของซูงะ จึงน่าจะสานต่อนโยบายผ่อนคลายทั้งการเงินและการคลัง ตลอดจนการปฏิรูปด้านต่างๆต่อไป
กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-JAPAN) เน้นลงทุนในหน่วยของ Janus Henderson Horizon Japanese Smaller Companies Fund – Class A2 (กองทุนหลัก) มุ่งแสวงหาการเติบโตระยะยาวจากหุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็ก (small cap) ซึ่งเราเชื่อว่า ปัจจัยจุลภาค (micro factors) ของหุ้นรายตัว มักมีอิทธิพลเหนือกว่า ปัจจัยมหภาคระดับโลก (global macro factors) ดังนั้น KT-JAPAN จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการรับโอกาสใน earnings season ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกประเทศ ช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งปธน.สหรัฐ
อ่านฉบับเต็มได้ที่
http://bit.ly/39LKxwv
“ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”
Author: ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
-------------------------------------------------------------------------
'

