• X
  • ค้นหา
  • TH EN
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • Menu แนะนำ
    • NAV
    • ค้นหากองทุน
    • กองทุนแนะนำ
    • กองทุนผลงานดี
    • ตารางจ่ายเงินปันผล
    • วันหยุดกองทุน
    • ข่าว/บทวิเคราะห์
    • กลยุทธ์การลงทุน
    • กำหนดการและแบบฟอร์ม
    • โปรโมชั่น
    • ข้อมูลกองทุน
    • เปรียบเทียบกองทุน
    • KTAM Daily News
    • KTAM Edutainment
  • KTAM Smart Trade
  • PVD Online
  • Agent
TH : EN
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์
  1. หน้าแรก
  2. KTAM Daily News
  3. สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน

สหรัฐฯ
สหรัฐเผยยอดค้าปลีกร่วงลง 0.9% ในเดือนพ.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกร่วงลง 0.9% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.6% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนเม.ย. นักวิเคราะห์ระบุว่าการที่ยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาดในเดือนพ.ค. มีสาเหตุจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนเม.ย. หากไม่รวมยอดขายรถยนต์ ยอดค้าปลีกลดลง 0.3% ในเดือนพ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1% (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านต่ำกว่าคาดในเดือนมิ.ย. สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 32 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 36 ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นลบ (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยดัชนีราคานำเข้าทรงตัวในเดือนพ.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าทรงตัวในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย.  เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกลดลง 0.9% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนเม.ย. (อินโฟเควสท์)
เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.2% ในเดือนพ.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 0.2% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าทรงตัว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค การผลิตในภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคลดลง 2.9% ส่วนการผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี การผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. (อินโฟเควสท์)
รีพับลิกันแตกคอ! สภาสูงแก้ร่างกม.ภาษีทรัมป์ สวนทางสภาล่าง การเมืองสหรัฐฯ กำลังร้อนระอุ เมื่อร่างกฎหมายลดภาษีฉบับเรือธงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลายเป็นสมรภูมิที่พรรครีพับลิกันต้องรบกันเอง หลังจากวุฒิสภาได้เสนอแก้กฎหมายในทิศทางที่สวนทางกับสภาผู้แทนราษฎร สร้างรอยร้าวภายในพรรคและอาจทำให้เป้าหมายการผ่านกฎหมายก่อนเส้นตายที่ตั้งไว้เองในวันที่ 4 ก.ค.นี้ต้องสั่นคลอน ชนวนความขัดแย้งสำคัญอยู่ที่การปรับแก้รายละเอียดหลายประการ โดยเฉพาะการที่วุฒิสภาเสนอกดเพดานการลดหย่อนภาษีท้องถิ่นลงมาเหลือเพียง 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าฉบับของสภาล่างที่เคยอนุมัติไว้ที่ 40,000 ดอลลาร์อย่างมาก ประเด็นนี้สร้างความไม่พอใจให้สส.รีพับลิกันทันที เพราะกระทบฐานเสียงของตัวเอง นอกจากนี้ วุฒิสภายังจำกัดวงการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินทิปและค่าล่วงเวลาให้แคบลง สวนทางกับฉบับของสภาล่างที่อนุญาตให้หักลดหย่อนรายได้จากทิปสำหรับผู้มีรายได้สูงถึง 160,000 ดอลลาร์ต่อปี ความขัดแย้งไม่ได้มีแค่ระหว่างรีพับลิกันในสองสภา แต่ภายในวุฒิสภาเองก็มีเสียงที่แตกออกเป็นสองค่ายใหญ่ ค่ายแรกคือกลุ่มรัดเข็มขัด นำโดยสว. รอน จอห์นสัน ที่มองว่าร่างกฎหมายนี้ยังไม่จริงจังพอที่จะแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ ขณะที่อีกค่ายคือกลุ่มปกป้องสวัสดิการสังคม ซึ่งกังวลต่อแผนการจำกัดเพดานภาษีในระบบประกันสุขภาพเมดิเคด (Medicaid) ซึ่งสว. จอช ฮอว์ลีย์ เตือนว่า "นี่คือระบบใหม่ที่จะตัดงบโรงพยาบาลในชนบทอย่างสิ้นเชิง"  สถานการณ์นี้เปรียบเหมือนการเดินบนเส้นด้ายของพรรครีพับลิกันที่มีเสียงข้างมากปริ่มน้ำในทั้งสองสภา และไม่สามารถเสียเสียงโหวตจากฝ่ายเดียวกันได้มากนัก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันมหาศาล เพราะร่างกฎหมายนี้ยังพ่วงการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากไม่ผ่านสภาภายในฤดูร้อนนี้ สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์ (อินโฟเควสท์)
ผู้พิพากษาสหรัฐฯ ชี้คำสั่งทรัมป์ตัดงบ NIH ผิดกฎหมาย เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) ผู้พิพากษาศาลกลางในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่า การที่รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังกล่าวหาว่ารัฐบาลมีการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลัง NIH ได้ยกเลิกเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยไปแล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลว่าเกี่ยวข้องกับโครงการริเริ่มด้านความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก (DEI) แต่ผู้พิพากษา วิลเลียม ยัง ได้แถลงในการพิจารณาคดีโดยไม่มีคณะลูกขุนว่า การกระทำดังกล่าวละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง จึงถือว่า "โมฆะและผิดกฎหมาย" ทั้งนี้ ผู้พิพากษา วิลเลียม ยัง เป็นผู้พิพากษาศาลกลางที่ได้รับการเสนอชื่อโดยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จากพรรครีพับลิกัน โดยกล่าวว่า เขาจะสั่งให้คืนเงินทุนให้กับองค์กรและรัฐที่ได้ยื่นฟ้องร้องจากการถูกยกเลิกทุนดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้พิพากษารายนี้ยังได้วิพากษ์วิจารณ์การยกเลิกเงินทุนสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อย โดยระบุว่า "ในชีวิตการทำงานของผม ไม่เคยเห็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่ชัดเจนโจ่งแจ้งถึงขนาดนี้มาก่อน" และ "การเลือกปฏิบัติใด ๆ โดยรัฐบาลของเรานั้นเป็นสิ่งผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งศาลจำเป็นต้องมีคำสั่งระงับ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ผมจะทำมันเอง"  NIH เป็นองค์กรวิจัยชีวการแพทย์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยประมาณ 60,000 ทุนแก่มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเกือบ 3,000 แห่งในแต่ละปี และที่ผ่านมาก็ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การบริหารของทรัมป์ในการลดงบประมาณและค่าใช้จ่าย (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ ส่งชาวเม็กซิกันมากกว่า 56,200 คนกลับประเทศแล้วในปีนี้ รัฐบาลเม็กซิโกเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (16 มิ.ย.) ว่า ชาวเม็กซิกันรวม 56,298 คนได้ถูกส่งตัวกลับจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมานี้ โดยมี 12,183 คนเดินทางด้วยเครื่องบิน อาร์ตูโร เมดินา ปลัดกระทรวงสิทธิมนุษยชน ประชากร และการย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า โครงการของรัฐบาลเม็กซิโกที่เรียกว่า "Mexico Embraces You" ซึ่งเปิดตัวขึ้นเพื่อรับมือกับการปราบปรามการย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ ได้ส่งคนสัญชาติเม็กซิโกจำนวน 24,082 คนเข้าศูนย์ดูแลตามชายแดนแล้ว  จนถึงขณะนี้ ได้มีการแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ที่เดินทางกลับแล้วกว่า 92,246 ชุด พร้อมทั้งบริการทางการแพทย์ 9,786 ราย และบริการทางจิตวิทยา 4,019 ราย นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับคำแนะนำทางกฎหมายและการสนับสนุนสำหรับเหยื่อของความรุนแรงทางเพศอีกด้วย เมดินาเสริมว่า ประชาชนมากกว่า 19,282 คนได้รับบัตรสวัสดิการเพื่อนร่วมชาติ หรือ Paisano Welfare Card ซึ่งมอบเงิน 2,000 เปโซ (105 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังชุมชนบ้านเกิดของพวกเขา และพลเมืองร่วมชาติของเราได้รับการรวมเข้าในโครงการสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดี หรือ เบียเนสตา (Bienestar) นอกจากนี้ พลเมืองที่เดินทางกลับประเทศได้รับความช่วยเหลือในการขอบัตรประจำตัวและสูติบัตรด้วย  เจ้าหน้าที่ยังระบุว่า มีผู้ได้รับโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น 2,495 คน ด้วยการสนับสนุนจากภาคเอกชน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 299.29 จุด วิตกตะวันออกกลางตึงเครียด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (17 มิ.ย.) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง เนื่องจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านได้ล่วงเข้าสู่วันที่ 5 และมีรายงานว่ากองทัพสหรัฐฯ ได้เคลื่อนฝูงบินขับไล่เข้าไปยังตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,215.80 จุด ลดลง 299.29 จุด หรือ -0.70%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,982.72 จุด ลดลง 50.39 จุด หรือ -0.84% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,521.09 จุด ลดลง 180.12 จุด หรือ -0.91% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $3.07 หวั่นศึกอิสราเอล-อิหร่านกระทบอุปทานน้ำมัน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 4% ในวันอังคาร (17 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงนั้น จะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 3.07 ดอลลาร์ หรือ 4.28% ปิดที่ 74.84 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 3.22 ดอลลาร์ หรือ 4.4% ปิดที่ 76.45 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟด สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (17 มิ.ย.) หลังจากนักลงทุนประเมินข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีก ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมทั้งผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันนี้ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.84% แตะที่ระดับ 98.821 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $10.40 เหตุดอลล์แข็งฉุดตลาด-จับตาตะวันออกกลาง สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (17 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยฉุดตลาด ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมทั้งผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันนี้ ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 10.40 ดอลลาร์ หรือ 0.30% ปิดที่ 3,406.90 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ร่วง กังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังยอดค้าปลีกซบ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงในวันนี้ หลังการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ณ เวลา 21.40 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.434% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.936% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
ZEW เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. พุ่งแรงสวนทางคาดการณ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ZEW ของเยอรมนีได้เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index) ประจำเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญที่สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน รายงานระบุว่า ดัชนีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 47.5 จุด ทะยานขึ้นจากระดับ 25.2 จุดในเดือนพ.ค. และยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 35.0 จุด อาคิม แวมบาค ประธานสถาบัน ZEW กล่าวว่า ความเชื่อมั่นกำลังฟื้นตัวขึ้น โดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากมาตรการทางการคลังของรัฐบาลเยอรมนี ประกอบกับการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเยอรมนีหลุดพ้นจากภาวะซบเซาได้ อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ -72.0 จุด จาก -82.0 จุดในเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ -75.0 จุด แต่ก็ยังอยู่ในแดนลบอย่างชัดเจน (อินโฟเควสท์)
อังกฤษ-สหรัฐฯ เห็นพ้องผ่อนปรนภาษี เดินหน้าข้อตกลงสินค้าเกษตร-ยานยนต์ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้รับการเปิดเผยระหว่างการประชุมกลุ่ม G7 ที่เมืองคานานาสกิส ประเทศแคนาดา โดยนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของอังกฤษ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันลงนามในเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดภาษีสินค้าหลักและการเพิ่มโควตาการค้าระหว่างสองประเทศ หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการลดภาษีนำเข้ารถยนต์อังกฤษจากเดิม 27.5% เหลือ 10% สำหรับโควตาปีละ 100,000 คัน และการยกเว้นภาษีนำเข้าระดับฐาน 10% ต่อภาคการบินพลเรือนของสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นการผ่อนปรนที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้อย่างชัดเจนคือภาษีนำเข้าเหล็ก โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ยอมให้สหราชอาณาจักรส่งออกภายใต้โควตาที่จะกำหนดในภายหลัง ขณะที่โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ จะเป็นผู้ตัดสินใจปริมาณเหล็กที่สามารถเข้าสู่สหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี 25% นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงด้านสินค้าเกษตร โดยทั้งสองประเทศจะมีโควตานำเข้าเนื้อวัว 13,000 ตันเท่ากัน แต่สหราชอาณาจักรยืนยันว่าจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพอาหารอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานของประเทศก่อนนำเข้า ประธานาธิบดีทรัมป์ถือว่าข้อตกลงนี้เป็นชัยชนะในนโยบายสงครามภาษี โดยใช้เป็นตัวอย่างว่า แนวทางกดดันด้านภาษีนำเข้าส่งผลให้ประเทศคู่ค้าอย่างอังกฤษยอมเปิดตลาดในบางจุด ขณะที่รัฐบาลอังกฤษก็สามารถปกป้องอุตสาหกรรมหลักบางส่วนได้ก่อนที่ประเทศอื่นจะเข้าสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นดีลการค้าฉบับแรกที่ทรัมป์ลงนามนับตั้งแต่เปิดฉากนโยบายภาษีต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกรอบข้อตกลงเบื้องต้นกับจีน แต่การเจรจากับประเทศอื่นยังล่าช้า แม้มีความสำเร็จในบางด้าน แต่การที่ยังไม่สามารถลดภาษีเหล็กตามเป้าหมายเดิมจาก 25% ลงเหลือ 0% ได้ในทันที ก็สะท้อนถึงความท้าทายที่ยังต้องติดตามต่อไป (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกสถานการณ์ตึงเครียดในตอ.กลาง ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (17 มิ.ย.) ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่ยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 5 ส่งผลให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลง ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 542.26 จุด ลดลง 4.65 จุด หรือ -0.85% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,683.73 จุด ลดลง 58.51 จุด หรือ -0.76%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,434.65 จุด ลดลง 264.47 จุด หรือ -1.12% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,834.03 จุด ลดลง 41.19 จุด หรือ -0.46% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 41.19 จุด วิตกความตึงเครียดอิหร่าน-อิสราเอล ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันอังคาร (17 มิ.ย.) จากแรงเทขายในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล รวมถึงการรอคอยผลการประชุมของธนาคารกลางหลายแห่งในสัปดาห์นี้ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,834.03 จุด ลดลง 41.19 จุด หรือ -0.46% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
BOJ คงดอกเบี้ยนโยบายตามคาด, ชะลอความเร็วในการลดซื้อพันบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมสองวันที่เสร็จสิ้นในวันนี้ (17 มิ.ย.) ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ BOJ ประกาศว่าจะชะลอความเร็วในการลดซื้อพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่เดือนเม.ย. 2569 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะดำเนินการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติอย่างรอบคอบระมัดระวัง สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ภายใต้แผนล่าสุดนี้ BOJ จะลดการซื้อพันธบัตรลง 2 แสนล้านเยน (1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อไตรมาส จากปัจจุบันที่ 4 แสนล้านเยนต่อไตรมาส ซึ่งจะทำให้ยอดรวมของการซื้อพันธบัตรลดลงสู่ระดับประมาณ 2 ล้านล้านเยนในช่วงต้นปี 2570 ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการส่งออกตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน คณะกรรมการ BOJ จึงตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุมสามครั้งติดต่อกัน การที่ BOJ ตัดสินใจชะลอความเร็วในการลดซื้อพันธบัตร เกิดขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษพุ่งสูงขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติเรียกร้องให้ปรับลดอัตราภาษีการบริโภค หลังจากที่ BOJ ยุติการดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษเพื่อต่อสู้กับเงินฝืดเป็นเวลานานนับทศวรรษ ซึ่งรวมถึงการซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก ในที่สุด คณะกรรมการ BOJ ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2567 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เห็นพ้องเดินหน้าเจรจาการค้าต่อไป ยังไร้ข้อตกลงลดภาษีนำเข้า นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีโอกาสพบกันเป็นเวลา 30 นาที ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่รีสอร์ตคานานาสคิสบนเทือกเขาร็อกกีในแคนาดา โดยถือเป็นการพบกันตัวต่อตัวครั้งที่สองของทั้งคู่ ซึ่งญี่ปุ่นหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในการผลักดันข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศ แต่การหารือกันในวันจันทร์ (16 มิ.ย.) ยังไม่สามารถนำไปสู่การลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น อิชิบะระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกันในบางประเด็น แม้ได้เจรจากันจนถึงนาทีสุดท้าย โดยเขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าเป็นประเด็นใดบ้าง ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของอิชิบะได้เปิดการเจรจากับสหรัฐฯ ไปแล้วถึง 6 รอบ นำโดยเรียวเซ อากาซาวะ หัวหน้าคณะเจรจาภาษีของญี่ปุ่น ซึ่งได้หารือกับ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ และ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ โดยการเจรจารอบล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนอิชิบะเดินทางไปแคนาดา   ผู้นำญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นในอัตรา 25% และภาษีตอบโต้สินค้าอื่น ๆ อีก 24% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการระงับใช้ชั่วคราวถึงวันที่ 9 ก.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางรายเตือนว่าหากภาษีเหล่านี้มีผลบังคับใช้ อาจทำให้จีดีพีของญี่ปุ่นหดตัวถึง 1 จุดเปอร์เซ็นต์ ข้อมูลจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UN International Trade Centre) ระบุว่า มาตรการภาษีของรัฐบาลทรัมป์อาจกระทบการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นมูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น โตโยต้าและนิสสัน รวมถึงผู้ผลิตรายเล็กที่เปราะบางต่อภาษีอย่างมาสด้า มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันประมาณ 20% ของการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น อิชิบะกล่าวว่า ภาคยานยนต์เป็นหนึ่งในผลประโยชน์แห่งชาติที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องปกป้อง และยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ดังกล่าว (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดแตะไฮรอบ 4 เดือน ขานรับสัญญาณบวกตะวันออกกลาง ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดบวกแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนในวันนี้ (17 มิ.ย.) หลังจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง สวนทางกับความกังวลเรื่องการเจรจาการค้าที่ยังคงมีอยู่  สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 38,536.74 จุด เพิ่มขึ้น 225.41 จุด หรือ +0.59% (อินโฟเควสท์)
จีน
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดลบ 1.32 จุด กังวลการค้า-ตะวันออกกลางตึงเครียด ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบในวันนี้ (17 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าโลกและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,387.40 จุด ลดลง 1.32 จุด หรือ -0.04% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดลบ 80.69 จุด จับตาสงครามอิสราเอล-อิหร่าน ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ (17 มิ.ย.) โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่อิสราเอลและอิหร่านยังคงโจมตีตอบโต้กันเป็นวันที่ 5 ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 23,980.30 จุด ลดลง 80.69 จุด หรือ -0.34% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
IEA ชี้ ดีมานด์น้ำมันโลกจ่อพีกปี 72 สวนทางมุมมอง OPEC องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเปรียบเสมือนที่ปรึกษาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ได้ออกมาตอกย้ำการคาดการณ์เดิมในวันนี้ (17 มิ.ย.) ว่า ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเติบโตจนถึงจุดสูงสุด (Peak) ภายในปี 2572 ที่ 105.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนจะเริ่มลดลงเล็กน้อยในปี 2573 อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้กลับสวนทางกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปก (OPEC) ที่เชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงเติบโตต่อไปอีกนาน และยังไม่ได้คาดการณ์จุดสูงสุดแต่อย่างใด IEA วิเคราะห์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่เคยเป็นผู้นำมานานหลายทศวรรษเริ่มแผ่วลง และกำลังจะแตะจุดสูงสุดของตัวเองก่อนใครในปี 2570 สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่เข้ามาแทนที่การเดินทางแบบเดิม   ในทางกลับกัน สหรัฐอเมริกา ที่เคยถูกมองว่าจะลดการใช้น้ำมันลงอย่างรวดเร็ว กลับมีแนวโน้มบริโภคน้ำมันสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัจจัยหนุนมาจากราคาน้ำมันเบนซินที่ถูกลง และที่สำคัญคือ กระแสรถยนต์ EV เติบโตช้ากว่าคาด โดย IEA ได้ปรับลดคาดการณ์สัดส่วนยอดขายรถ EV ในสหรัฐฯ สำหรับปี 2573 จากเดิม 55% เหลือเพียง 20% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด แม้ดีมานด์จะใกล้ถึงเพดาน แต่ฝั่งผู้ผลิตกลับไม่มีทีท่าว่าจะชะลอการผลิต โดย IEA คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนพุ่งไปแตะระดับ 114.7 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2573 ซึ่งจะทำให้อุปทานล้นเกินความต้องการอยู่มาก   อย่างไรก็ตาม ฟาตีฮ์ บิรอล ผู้อำนวยการบริหารของ IEA ย้ำว่า "แม้ปัจจัยพื้นฐานชี้ว่าตลาดจะมีอุปทานเพียงพอในอีกหลายปีข้างหน้า แต่สถานการณ์ล่าสุด (ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง) ก็ตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของอุปทานน้ำมัน" (อินโฟเควสท์)
ผู้นำ G7 ถกประเด็นการค้าโลก ท่ามกลางแรงตึงเครียดจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ได้เปิดฉากการประชุม 2 วันในแคนาดาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 มิ.ย.) โดยหารือกันในประเด็นการค้าโลก ท่ามกลางความพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่เกิดจากสงครามภาษีและแนวทางการทูตแบบฝ่ายเดียวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แนวทางการทูตแบบเน้นผลประโยชน์ของทรัมป์ และมาตรการการค้าที่มีลักษณะเผชิญหน้าซึ่งพุ่งเป้าไปที่การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิก G7 ด้วยนั้น ได้กลายเป็นบททดสอบต่อความสามารถของกลุ่ม G7 ในการประสานนโยบายเศรษฐกิจโลก และจัดการกับภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ระหว่างการประชุม มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดาและเจ้าภาพการประชุม เตือนว่าขณะนี้โลกกำลังเผชิญภาวะแตกแยกและอันตรายยิ่งขึ้น พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น คาร์นีย์กล่าวว่า "แม้เราจะไม่เห็นพ้องกันในทุกประเด็น แต่เมื่อใดที่เราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับประชาชนของเราและต่อโลกใบนี้ และนำไปสู่ยุคใหม่แห่งความรุ่งเรือง" อย่างไรก็ตาม ปธน.ทรัมป์แสดงจุดยืนชัดว่าเขาไม่เห็นพ้องกับชาติพันธมิตรในหลายเรื่อง โดยหนึ่งในประเด็นที่เขาเน้นย้ำคือการขับรัสเซียออกจากกลุ่ม G7 เมื่อปี 2557 หลังจากรัสเซียเข้ายึดและผนวกรวมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งทรัมป์ชี้ว่าการขับรัสเซียออกจากกลุ่มถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ขณะให้สัมภาษณ์ร่วมกับคาร์นีย์ก่อนการประชุมทวิภาคี ทรัมป์ยังแสดงท่าทีเปิดกว้างต่อการนำจีนเข้าร่วมกลุ่ม G7 หลังผู้สื่อข่าวตั้งคำถามเชิงสมมติ โดยทรัมป์กล่าวว่า "ก็เป็นความคิดที่ไม่เลว" (อินโฟเควสท์)
เกาหลีใต้ส่งออกรถยนต์ลดลง 4.4% ในเดือนพ.ค. จากผลกระทบภาษีสหรัฐฯ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยในวันนี้ (17 มิ.ย.) ว่า ยอดส่งออกรถยนต์ของเกาหลีใต้ลดลง 4.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 6.20 พันล้านดอลลาร์ และลดลงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. ซึ่งลดลง 3.8% สาเหตุที่ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ของเกาหลีใต้ลดลงในเดือนพ.ค.นั้น มาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากร ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์รถยนต์เกาหลีใต้ในสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ประกอบกับอุปสงค์รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง สำหรับยอดส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ลดลง 27.1% แตะที่ระดับ 2.52 พันล้านดอลลาร์ แต่ยอดส่งออกรถยนต์ไปยังสหภาพยุโรป (EU) และเอเชียปรับตัวขึ้นในอัตราเลขสองหลัก ส่วนยอดส่งออกรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดลง 0.6% แตะที่ระดับ 2.17 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  จำนวนรถยนต์ที่ส่งออกในเดือนพ.ค.อยู่ที่ 247,577 คัน ลดลง 3.1% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ยอดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์แตะ 1.66 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 9.4% รายงานของกระทรวงฯ ยังระบุด้วยว่า จำนวนรถยนต์ที่ผลิตในโรงงานภายในประเทศ ลดลง 3.7% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 358,969 คันในเดือนพ.ค. ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่ผลิตในประเทศและรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ อยู่ที่ 141,865 คันในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายปี (อินโฟเควสท์)
เวียดนามขยายเวลาลด VAT เหลือ 8% ถึงสิ้นปีหน้า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เวียดนามเริ่มใช้มาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 8% มาตั้งแต่ต้นปี 2565 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 และมีการขยายระยะเวลามาอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวเวียดนามรายงานว่า ในวันนี้ (17 มิ.ย.) สมัชชาแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติของเวียดนาม ได้ลงมติขยายมาตรการลดภาษีดังกล่าวออกไปอีกจนถึงสิ้นปีหน้า โดยครอบคลุมสินค้าและบริการเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบริการด้านโทรคมนาคม การเงิน ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์ และสินค้ากลุ่มโลหะ ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า การขยายเวลาลดภาษีจะทำให้รัฐบาลเวียดนามสูญเสียรายได้ประมาณ 121.74 ล้านล้านดอง หรือราว 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนก.ค. 2568 ไปจนถึงปลายปี 2569  ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เคยแสดงความเห็นเมื่อต้นปีว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มในหลายประเทศทั่วโลกเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง (อินโฟเควสท์)
รัฐมนตรีต่างประเทศ 21 ชาติออกแถลงการณ์ขอคืนความสงบตะวันออกกลาง ประเทศอาหรับ อิสลาม และแอฟริกัน 21 ประเทศออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันจันทร์ (16 มิ.ย.) โดยเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีอิหร่าน หยุดยิงอย่างครอบคลุม และฟื้นฟูความสงบในภูมิภาค แถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ปากีสถาน ตุรกี ชาด และอีกหลายประเทศ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อ "การยกระดับที่อันตราย" ของการโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่านตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา และเตือนว่าการโจมตีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งภูมิภาคอย่างร้ายแรง บรรดารัฐมนตรีประณามอิสราเอลว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐและบูรณภาพแห่งดินแดน การอยู่ร่วมกันโดยสันติ และแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรีได้ย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งเขตตะวันออกกลางที่ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงอื่น ๆ และเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ทั้งหมดในภูมิภาคเข้าร่วมสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้กลับเข้าสู่การเจรจาในฐานะหนทางเดียวที่เป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงที่ยั่งยืนเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน  ตั้งแต่ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 มิ.ย.) อิสราเอลได้โจมตีทางอากาศในกรุงเตหะรานและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วอิหร่าน ส่งผลให้ผู้บัญชาการทหารระดับสูง นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และพลเรือนเสียชีวิตหลายคน ขณะเดียวกัน อิหร่านตอบโต้ด้วยการโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ ในอิสราเอลด้วยขีปนาวุธและโดรนหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและเกิดความเสียหายอย่างมาก (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex ร่วงกว่า 200 จุด กังวลตอ.กลางตึงเครียด ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียร่วงลงกว่า 200 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านได้ย่างเข้าสู่วันที่ 5 ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 81,583.30 ลบ 212.85 จุด หรือ 0.26% (อินโฟเควสท์)
ไทย
บอร์ดค่าจ้างเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กทม.เป็น 400 บาท พร้อมกลุ่มท่องเที่ยวบริการทั่วประเทศ มีผล 1 ก.ค.68 คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติ 2 ใน 3 จากทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับขึ้นค่าแรง 400 บาทในบางกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ คือ กิจการโรงแรมทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับ 2 ดาวขึ้นไป หรือโรงแรม 50 ห้องขึ้นไป หรือมีห้องอาหาร และกิจการสถานบริการทั่วประเทศ อาทิ คาราโอเกะ คอกเทลเล้าจ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.68 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีแรงงานที่จะได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ประมาณ 7 แสนคน โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การขึ้นค่าแรง 400 บาทในครั้งนี้ให้กับภาคท่องเที่ยวและบริการก่อน เพราะนายจ้างได้รับผลกระทบน้อยสุด และปรับให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของแรงงาน อย่างไรก็ตาม ได้รับคำแนะนำจากหลายๆ ฝ่ายเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการลดผลกระทบจากนายจ้างนั้น กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับอีก 6 ธนาคารเปิดสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท สำหรับให้สถานประกอบการกู้ยืมเพื่อจะช่วยเยียวยาและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในระดับหนึ่ง และกระทรวงแรงงานจะเสนอผลสรุปรายงานต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา แก้ปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดกับนายจ้างในการขึ้นค่าแรงรอบนี้ นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการรายงานถึงสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ซึ่งตอนนี้มีแรงงานไทยกว่า 40,000 คน และแรงงานทุกคนปลอดภัยดี ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคก่อสร้าง และกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพไทยได้ประสานงานเรื่องนี้กันตลอดเวลา รวมทั้งกระทรวงแรงงานได้มีศูนย์ช่วยเหลือประสานงานติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล และประสานกับทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานทุก 2 ชั่วโมง ในส่วนของการทำงานของแรงงานกัมพูชาที่มาทำงานในประเทศไทย นั้น กระทรวงแรงงานไม่มีนโยบายส่งแรงงานกลับในขณะนี้ และได้รับแจ้งจากฝ่ายนายจ้างว่าแรงงานกัมพูชายังคงต้องการทำงานในประเทศไทยต่อไป (อินโฟเควสท์)
คลังกางข้อเสนอถึงแบงก์ชาติ ดึงเงินเฟ้อเข้ากรอบ-ดูแลค่าเงิน-เพิ่มสภาพคล่อง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 (ก.ค.-ธ.ค.67) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อรายงานดังกล่าว ใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. ให้มีการสอดประสานกันระหว่างนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังให้มากขึ้น โดยในฐานะที่กระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องมาตรการทางการคลัง และ ธปท. ดูแลมาตรการทางการเงิน 2. ให้ดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ตามที่ได้มีการหารือกันในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจนถึงติดลบ 3. ให้พิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 4. ให้พิจารณาสินเชื่อ และสภาพคล่อง เพื่อให้มีการปล่อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันจะเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น จึงอาจเป็นผลให้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รมช.คลัง ระบุว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าว ไม่ได้มุ่งแทรกแซงการทำงานของ กนง. หรือ ธปท. โดยเฉพาะในเรื่องอิสระในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย และไม่ใช่การสั่งว่าใครต้องทำอะไร เพียงแค่ต้องการให้มองการทำงานที่สอดคล้องกันเป็นภาพใหญ่ และหลายมิติมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ (อินโฟเควสท์)
"เที่ยวไทย คนละครึ่ง" เปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียน ก่อนเสนอบอร์ดกระตุ้นศก.พรุ่งนี้ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่จะเข้าร่วม "โครงการเราเที่ยวด้วยกัน" แล้ว และในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการและวงเงินใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แจ้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศ ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ "เที่ยวไทย คนละครึ่ง" ของททท. เมื่อมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ หลังผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ททท. จะดำเนินการแจ้งเตือนกลับไปยังผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป (อินโฟเควสท์)
คลัง จ่อให้ดาบ "สรรพสามิต" ตัดเงินอุดหนุนค่ายรถ EV ทันทีหากผิดเงื่อนไข-สั่งอัพเดทแผนผลิตทุก 2 เดือน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมพิจารณาปรับเงื่อนไขการเพิ่มอำนาจให้กรมสรรพสามิต สามารถระงับการจ่ายเงินสมทบให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV3.0) และ EV3.5 ได้ทันที โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการ หรือบริษัททำผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น การผลิตรถ EV ชดเชยไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รมช.คลัง กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขให้ค่ายรถ EV ต้องทำแผนการผลิตรถชดเชยตามเงื่อนไขของมาตรการทุก ๆ 2 เดือน มาให้กรมสรรพสามิตพิจารณา ซึ่งจะใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้ค่ายรถ โดยหากเห็นสัญญาณว่าค่ายรถ EV เริ่มมีปัญหา เช่น ไม่สามารถผลิตรถชดเชยได้ตามสัญญา กรมสรรพสามิตจะมีอำนาจระงับจ่ายเงินชดเชยได้ทันที อย่างไรก็ดี เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป รมช.คลัง เห็นว่า การเพิ่มอำนาจให้กรมสรรพสามิตพิจารณาชะลอการจ่ายเงินชดเชยให้ค่ายรถยนต์ได้นั้น ถือเป็นการสร้างกลไกในการตัดวงจรที่จะเกิดกรณีค่ายรถมีปัญหาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการได้ ส่วนประเด็นเรื่องการยืดระยะเวลาการผลิตรถยนต์ EV ชดเชยนั้น เป็นการช่วยเหลือค่ายรถในอีกมิติ ไม่ใช่การช่วยค่ายรถที่มีปัญหา แต่เป็นการช่วยอุตสาหกรรมในภาพรวม ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเงื่อนไขที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ โดยในภาพรวมของมาตรการขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีค่ายรถยนต์ EV อื่น ๆ ที่มีปัญหาเชิงประจักษ์ (อินโฟเควสท์)
นายกฯ ยังไม่ได้รับหนังสือป.ป.ช. ปมโยกงบฯ ใช้ "ดิจิทัลวอลเล็ต" น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังกาปรระชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติรับเรื่องกล่าวหาการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไปดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 35,000 ล้านบาท ที่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวมีการระบุ ชื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึง นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาทั้งคณะ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดลบ 0.91 จุด ปัจจัยใน-นอกคลุมเครือแม้"เที่ยวไทยคนละครึ่ง"หนุน แนวโน้มพรุ่งนี้ซึมรอเฟด SET ปิดวันนี้ที่ 1,113.58 จุด ลดลง 0.91 จุด (-0.08%) มูลค่าซื้อขาย 27,531.25 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ ระบุตลาดหุ้นไทยแกว่งกรอบแคบแทบไม่เปลี่ยนแปลง จากความไม่ชัดเจนของปัจจัยในและนอกประเทศ ทั้งความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน และการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงการปรับ ครม.ยังคลุมเครือ แม้ตลาดได้รับแรงหนุนจากหุ้นรายตัวกลุ่มท่องเที่ยว-AOT ตอบรับ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง" คืบหน้า แนวโน้มวันพรุ่งนี้คาดภาพรวมใกล้เคียงวันนี้ นักลงทุนยังไม่กล้าตัดสินใจระหว่างรอผลประชุมเฟด ให้แนวต้าน 1,130 จุด แนวรับ 1,100 จุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดวันนี้ที่ 1,113.58 จุด ลดลง 0.91 จุด (-0.08%) มูลค่าซื้อขาย 27,531.25 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีแกว่งกรอบแคบ โดยทำระดับสูงสุด 1,119.13 จุด และต่ำสุด 1,112.25 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 243 หลักทรัพย์ ลดลง 197 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 220 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 159,692 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 159,692 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 64,660 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 2,309 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 3,865 ล้านบาท  Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.53% ปรับตัวลดลงจากเมื่อวาน -0.02% ภาพรวมของตลาดในวันนี้  Yield Curve ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 1-3 bps. สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET OUTFLOW 15,490 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET SELL 3,865 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) 11,625 ล้านบาท ด้านปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตามการคาดการณ์ของตลาด พร้อมประกาศจะชะลอความเร็วในการลดซื้อพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่เดือนเม.ย. 2569 ทั้งนี้ตลาดติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนพ.ค. ของอังกฤษและอียูในวันพรุ่งนี้ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 32.57 อ่อนค่าสอดคล้องภูมิภาค ตลาดรอปัจจัยใหม่หนุนทิศทาง นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 32.57 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.45 บาท/ดอลลาร์ เย็นนี้เงินบาทอ่อนค่าจากช่วงเช้า โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.47-32.61 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทวันนี้อ่อนค่าตามสกุลเงินอื่นในภูมิภาค หลังจากราคาทองคำตลาดโลกย่อตัวลง นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามตลาดคาด สำหรับคืนนี้ ต้องติดตามการรายงานยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.ของสหรัฐ และคืนพรุ่งนี้ติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ว่าจะมีมติเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างไร รวมทั้งติตตามสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง  นักบริหารเงิน คาดว่าพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40 - 32.65 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
 
 
 
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ญี่ปุ่น    
ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.จากสถาบัน ZEW อียู                           
ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. สหรัฐฯ       
ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนพ.ค. สหรัฐฯ       
 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. สหรัฐฯ       
สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเม.ย. สหรัฐฯ       
ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) สหรัฐฯ       

 

แชร์เรื่องนี้

  • Facebook
  • Twitter
  • Line

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

News Demo
18
กรกฎาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
17
กรกฎาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ
News Demo
16
กรกฎาคม
2568
สรุปภาวะเศรษฐกิจประจำวัน
อ่านต่อ

Shortcut Menu

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับ KTAM
  • กองทุนรวม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนส่วนบุคคล
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์/
    โครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุน RMF/LTF/SSF/ThaiESG
  • กองทุน FIF/ETF
  • กองทุนผลงานดี
  • ตารางจ่ายเงินปันผล
  • ข่าว/บทวิเคราะห์
  • กลยุทธ์การลงทุน
  • กำหนดการและแบบฟอร์ม
  • โปรโมชั่น
  • ปฏิทินกองทุน
  • ภาพกิจกรรม
  • ประกาศราคากลาง
  • AIMC Category
    Performance Report
  • ถาม-ตอบ
  • ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน
  • ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้
  • การตั้งค่าคุกกี้
  • สมัครรับข่าวสาร
  • ติดต่อเรา
  • ร่วมงานกับเรา
  • ประกาศความเป็นส่วนตัว
Go To Top
Stay Connect with us:
  • Facebook
  • Twitter
  • Youtube

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

KTAM Smart Plan: 0-2686-6100 กด 9 โทรสาร 0-2670-0430 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อีเมล: callcenter@ktam.co.th

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0-1075-45000-37-3 : สำนักงานใหญ่

  • พันธมิตรธุรกิจ
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
  • แผนผังเว็บไซต์

การใช้และการจัดการคุกกี้

เว็บไซต์ของบริษัทฯ มีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณสามารถตั้งค่าและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ การใช้คุกกี้ของบริษัทฯ ได้ที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ และ การตั้งค่าคุกกี้

 การใช้และการจัดการคุกกี้

เมื่อท่านเข้าใช้เว็บไซต์ของเรา เราใช้คุกกี้ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของเราจะ ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเรายังใช้คุกกี้ประเภทอื่นๆ เพื่อรวบรวมพฤติกรรมการใช้ งานเว็บไซต์ของเราและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างประสบการณ์ การใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งานคุกกี้ บางประเภทได้ตลอดเวลา และบริษัทจะไม่ใช้คุกกี้ที่ท่านเลือกปิดการใช้งาน

ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราที่ ประกาศความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้


การกำหนดลักษณะความยินยอม

คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย และการเข้าสู่ระบบ

คุกกี้วิเคราะห์

เราใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง