สหรัฐฯ
สหรัฐเผยดัชนี PPI +2.6% เดือนพ.ค. สอดคล้องคาดการณ์ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้ ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% หลังจากปรับตัวลง 0.2% ในเดือนเม.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากปรับตัวลง 0.2% ในเดือนเม.ย. (อินโฟเควสท์)
สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ทรงตัวที่ระดับ 248,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 244,000 ราย ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 5,000 ราย สู่ระดับ 240,250 ราย ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 54,000 ราย สู่ระดับ 1.96 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 (อินโฟเควสท์)
คาดสหรัฐเผยดัชนี PPI +2.6% เดือนพ.ค. ดีดตัวจากเดือนเม.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.5% ในเดือนเม.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 3.1% เช่นกันในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.4% ในเดือนเม.ย. (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ ส่งสัญญาณอาจขยายเวลาระงับเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากคู่ค้าสำคัญ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เปิดเผยในวันพุธ (11 มิ.ย.) ว่า สหรัฐฯ อาจขยายเวลาระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรระยะ 90 วันกับสินค้าต่าง ๆ จากคู่ค้ารายสำคัญ หากพวกเขายังคงเจรจาอย่างจริงใจต่อไป เบสเซนต์กล่าวในการแถลงต่อรัฐสภาว่า "มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะขยายเวลาให้กับประเทศเหล่านั้น หรือกลุ่มการค้าต่าง ๆ อย่างในกรณีของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังเจรจากับเราด้วยความจริงใจ เพื่อให้การเจรจาดำเนินต่อไป หากใครไม่ยอมเจรจา เราก็จะไม่ขยายเวลาให้เช่นกัน" เบสเซนต์เปิดเผยถ้อยแถลงดังกล่าวหลังถูกถามเกี่ยวกับการขยายเวลาระงับเก็บภาษีที่กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้ ขณะที่เน้นย้ำว่าคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเจรจากับคู่ค้าสำคัญทั้ง 18 รายเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารส่งสัญญาณถึงความพร้อมที่จะขยายเวลาการระงับเก็บภาษีระยะ 90 วันออกไป (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" อัด "พาวเวล" เป็นพวกกระโหลกหนา เหตุยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างรุนแรงในวันนี้ โดยเรียกเขาว่า เป็นคน "กระโหลกหนา" (numbskull) ท่ามกลางความไม่พอใจที่นายพาวเวลยังคงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์อ้างว่า การลดอัตราดอกเบี้ย 2% จะช่วยให้สหรัฐประหยัดงบประมาณได้มากถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี "แต่เราไม่สามารถทำให้นายคนนี้ทำเช่นนั้นได้ โดยเราจะต้องเสียงบประมาณมากถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพียงเพราะคนกระโหลกหนาคนหนึ่งที่นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วพูดว่า 'ผมยังไม่เห็นเหตุผลเพียงพอที่จะลดดอกเบี้ยตอนนี้'" ปธน.ทรัมป์กล่าว (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ สั่ง ICE ตั้งโควตาคุมเข้มตรวจสอบนายจ้าง เร่งกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการสอบสวนบริษัทที่ต้องสงสัยว่าจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย พร้อมสั่งการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ICE) กำหนดโควตาการตรวจสอบบริษัทต่าง ๆ เพื่อเร่งผลักดันผู้อพยพออกนอกประเทศ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากทนายความด้านคนเข้าเมืองและอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิว่า ICE ได้สั่งการไปยังสำนักงานภูมิภาคทั้ง 30 แห่งทั่วประเทศ ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบเอกสารแสดงสถานะผู้อพยพของลูกจ้างจากนายจ้าง หรือที่เรียกว่า "I-9 audit" โดยจำนวนการแจ้งตรวจสอบเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่านับตั้งแต่เดือนม.ค. การตรวจสอบเอกสารดังกล่าวมักเป็นขั้นตอนเบื้องต้นก่อนการบุกค้นสถานที่ทำงาน และเพิ่งถูกใช้โดยรัฐบาลทรัมป์เป็นหนึ่งในวิธีการจับกุมแรงงานผิดกฎหมายโดยไม่ต้องอาศัยหมายศาล ในหลายกรณี แรงงานผิดกฎหมายจะไม่กลับเข้าทำงานอีก หลังเจ้าหน้าที่ ICE ส่งหนังสือแจ้งตรวจสอบให้นายจ้าง รายงานยังระบุว่า คำสั่งดังกล่าวนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวดครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมและภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมเสริมว่า ICE ยังเร่งเดินหน้าจับกุมแรงงานผิดกฎหมายให้ได้อย่างน้อยวันละ 3,000 ราย ตามนโยบายของสตีเฟน มิลเลอร์ รองหัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 101.85 จุด เงินเฟ้อต่ำหนุนคาดเฟดหั่นดอกเบี้ย ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทออราเคิล (Oracle) ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,967.62 จุด เพิ่มขึ้น 101.85 จุด หรือ +0.24%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 6,045.26 จุด เพิ่มขึ้น 23.02 จุด หรือ +0.38% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,662.48 จุด เพิ่มขึ้น 46.61 จุด หรือ +0.24% ดัชนี PPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากมาตรการภาษีศุลกากร และยังทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 60% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดลบ 11 เซนต์ นลท.ขายทำกำไรหลังราคาพุ่งแรง สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่า 4% ในวันพุธ อันเนื่องมาจากความกังวลว่าสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางจะส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันด้านอุปทาน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 11 เซนต์ หรือ 0.16% ปิดที่ 68.04 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.59% ปิดที่ 69.36 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐฯ เผยดัชนี PPI ต่ำกว่าคาด สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.)หลังสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดน้อยลง และทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.72% แตะที่ระดับ 97.919 ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.52 เยน จากระดับ 144.51 เยนในวันพุธ (11 มิ.ย.) ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.8115 ฟรังก์ จากระดับ 0.8205 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3603 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3663 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1578 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1486 ดอลลาร์ในวันพุธ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3596 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3547 ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่ง $58.70 ตอ.กลางตึงเครียดหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ยังทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 58.70 ดอลลาร์ หรือ 1.76% ปิดที่ 3,402.40 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ร่วงวันที่ 2 หลังเผยดัชนี PPI ตลาดจับตาประมูลพันธบัตรวันนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงเป็นวันที่ 2 หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันนี้ ณ เวลา 19.56 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.353% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.851% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
GDP สหราชอาณาจักรหดตัว 0.3% ในเดือนเม.ย. คาดกดดันแผนใช้จ่ายรัฐบาล สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยในวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.3% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.1% โดยมีสาเหตุมาจากภาคการผลิตและภาคบริการที่หดตัวลง เศรษฐกิจที่หดตัวลงมากกว่าคาดอาจทำให้ตลาดเกิดความไม่มั่นใจว่า เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เขาคาดหวังไว้ว่าจะใช้เป็นเครื่องมือเรียกร้องงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ รัฐบาลพรรคแรงงานของสตาร์เมอร์จำเป็นต้องพึ่งพาแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2568 เพื่อสนับสนุนแผนการฟื้นฟูการบริการสาธารณะที่ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีคลังได้ระบุไว้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (อินโฟเควสท์)
UK เผยยอดส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง 2.71 พันล้านดอลล์ จากผลกระทบภาษีศุลกากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยในวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า ยอดส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังสหรัฐฯ ลดลง 2 พันล้านปอนด์ (2.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ ONS เริ่มบันทึกข้อมูลในปี 2540 ONS ระบุว่า มูลค่าการส่งออกในเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 โดย "น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ" ในช่วงเวลา 3 เดือนจนถึงเดือนเม.ย. สหราชอาณาจักรขาดดุลการค้าสินค้าเพิ่มขึ้น 4.4 พันล้านปอนด์ สู่ระดับ 6 หมื่นล้านปอนด์ ในขณะที่เกินดุลการค้าด้านการบริการลดลง 500 ล้านปอนด์ สู่ระดับ 4.85 หมื่นล้านปอนด์ สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้ประกาศข้อตกลงทางการค้าเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังคงกำหนดภาษีศุลกากรในอัตรา 10% สำหรับสินค้าอังกฤษที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้ายังไม่มีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ จึงทำให้สหราชอาณาจักรยังคงถูกเรียกเก็บภาษีเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ในอัตรา 25% (อินโฟเควสท์)
ECB เผยธนาคารกลางทั่วโลกตุนทองคำในทุนสำรองมากเป็นอันดับสองรองจากดอลลาร์ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า การที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในระบบทุนสำรองของโลกในปี 2567 รายงานของ ECB ซึ่งเผยแพร่ในวันพุธ (11 มิ.ย.) ระบุว่า ขณะนี้ปริมาณทองคำสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกใกล้เคียงกับระดับในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และเมื่อนำปัจจัยราคาทองคำที่สูงขึ้นมาพิจารณาร่วมด้วยแล้ว ทองคำจึงเป็นรองเพียงแค่เพียงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในระบบทุนสำรองของโลก ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ได้ตุนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น สกุลเงินต่างประเทศและทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและเพื่อกระจายการถือครองสินทรัพย์ นอกจากนี้ การตุนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องยังช่วยให้ธนาคารกลางสามารถนำสินทรัพย์เหล่านี้ออกมาขายเพื่อพยุงค่าเงินในประเทศในช่วงเวลาที่เกิดความตึงเครียด ในปี 2566 ทองคำและสกุลเงินยูโรมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ประมาณ 16.5% ของทุนสำรองทั่วโลกโดยเฉลี่ย และต่อมาในปี 2567 สัดส่วนของยูโรลดลงเหลือ 16% และสัดส่วนของทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 19% ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงถึง 47% ในทุนสำรองทั่วโลก ทั้งนี้ ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นในช่วงที่สถานการณ์มีความผันผวน และปัจจุบันความต้องการถือครองทองคำของธนาคารกลางคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของความต้องการทองคำทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณหนึ่งในสิบในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2010 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เนื่องจากความหวังด้านการค้าโลกลดลง ขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 549.84 จุด ลดลง 1.80 จุด หรือ -0.33% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,765.11 จุด ลดลง 10.79 จุด หรือ -0.14%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,771.45 จุด ลดลง 177.45 จุด หรือ -0.74% ดัชนี STOXX 600 ปิดลดลง 0.3% หลังจากแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่าสัปดาห์ระหว่างวัน โดยการปรับตัวลงต่อเนื่องครั้งนี้ถือเป็นการลดลงติดต่อกันรายวันยาวนานที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน ปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือความไม่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพุธว่า พร้อมจะขยายเส้นตายการเจรจาการค้า แต่ก็อาจไม่จำเป็น เพราะมีจดหมายเกี่ยวกับข้อเสนอที่กำลังจะส่งให้ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 20.57 จุด หุ้นพลังงานหนุนตลาด ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปรับตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นยุโรปอื่น ๆ จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงานและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน บางแห่ง แม้ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดจำกัดแรงซื้อก็ตาม ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,884.92 จุด เพิ่มขึ้น 20.57 จุด หรือ +0.23% หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ทำผลงานดีที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.4% ขณะที่กลุ่มเฮลท์แคร์ปรับตัวขึ้น 1.2% หุ้นกลุ่มเหมืองแร่โลหะมีค่าพุ่งขึ้น 3.2% ตามราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทั่วโลก (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในญี่ปุ่นลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี เหตุวิตกนโยบายภาษีสหรัฐฯ รัฐบาลญี่ปุ่นเผยผลสำรวจล่าสุดในวันนี้ (12 มิ.ย.) ระบุว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นลดลงในไตรมาส 2 (เม.ย.–มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส และบ่งชี้ว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก กระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ลดลงมาอยู่ที่ -1.9 จากระดับ +2.0 ในไตรมาสแรก (ม.ค.–มี.ค.) ดัชนีดังกล่าววัดสัดส่วนของบริษัทที่ประเมินว่าสภาพธุรกิจดีขึ้นเทียบกับจำนวนบริษัทที่เห็นว่าสภาพแย่ลง โดยหากตัวเลขติดลบ แสดงว่าจำนวนบริษัทที่มองว่าสถานการณ์แย่ลงมีมากกว่าบริษัทที่มองว่าดีขึ้น (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่นกลับมาซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ผ่านทางเรือบรรทุกน้ำมันที่ถูกคว่ำบาตรจากทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) โดยหวังรักษาเสถียรภาพของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มั่นคง เคปเลอร์ (Kpler) ซึ่งเป็นบริษัทติดตามข้อมูลการเดินเรือเปิดเผยว่า เรือบรรทุกน้ำมันวอยเอเจอร์ (Voyager) ได้ส่งมอบน้ำมันที่โรงกลั่นของบริษัทไทโย ออยล์ (Taiyo Oil) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. โดยไทโย ออยล์ได้ยืนยันว่าเป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียจริง ซึ่งเป็นไปตามคำขอของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) เรือวอยเอเจอร์ได้ทำการขนส่งน้ำมัน "ซาฮาลิน เบลนด์" (Sakhalin Blend) จากโครงการน้ำมันและก๊าซ ซาฮาลิน 2 (Sakhalin 2) ในช่วงปลายเดือนพ.ค. โดยญี่ปุ่นได้รับการยกเว้นจากทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปให้สามารถนำเข้าน้ำมันจากโครงการนี้ได้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โครงการซาฮาลิน 2 ครองสัดส่วน 10% ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของญี่ปุ่น โดยก๊าซดังกล่าวถูกผลิตมาพร้อมกับน้ำมัน หากแหล่งเก็บน้ำมันในคลังเต็มเนื่องจากไม่สามารถขนส่งน้ำมันดิบได้ โรงงานต้นน้ำอาจต้องหยุดการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตก๊าซ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อน้ำมันจากรัสเซียเป็นประจำ รวมถึงน้ำมันซาฮาลิน เบลนด์ แต่หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนก.พ. 2565 ญี่ปุ่นก็ไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอีกเลยนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 แม้ว่าสหรัฐฯ และ EU ให้การยกเว้นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางพลังงานก็ตาม (อินโฟเควสท์)
อิชิบะไม่เร่งปิดดีลการค้าสหรัฐฯ ชี้จุดยืนยังห่าง ยันไม่ยอมเสียผลประโยชน์ชาติ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า เขาจะไม่เร่งรีบทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ หากข้อตกลงนั้นอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ อิชิบะแถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า หากมีความคืบหน้าก่อนที่ตนจะพบกับทรัมป์ ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่สิ่งสำคัญคือการบรรลุข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมย้ำว่าจะไม่ประนีประนอมผลประโยชน์ของญี่ปุ่นเพื่อแลกกับการบรรลุข้อตกลงอย่างเร่งรีบ ถ้อยแถลงของอิชิบะมีขึ้นหลังการหารือร่วมกับบรรดาผู้นำพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับประเด็นภาษีนำเข้า โดยเซอิจิ มาเอฮาระ หัวหน้าร่วมพรรคพัฒนานวัตกรรมญี่ปุ่น เปิดเผยว่าทั้งสองประเทศยังมีจุดยืนที่ห่างกันมาก และไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปในเร็ววัน พร้อมเสริมว่า อิชิบะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดความคืบหน้าของการเจรจา และยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาได้ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเมื่อใด คาดว่าอิชิบะมีกำหนดพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ นอกรอบการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 ที่ประเทศแคนาดาในวันอาทิตย์ (15 มิ.ย.) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดวันและเวลาอย่างเป็นทางการสำหรับการหารือแบบทวิภาคี ด้านเรียวเซ อากาซาวะ หัวหน้าคณะเจรจาด้านภาษีศุลกากรของญี่ปุ่น เตรียมหารือกับคณะรัฐมนตรีสหรัฐฯ รอบที่ 6 ในวันศุกร์นี้ (13 มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะหาข้อตกลงร่วม ก่อนการประชุมกลุ่ม G7 จะเปิดฉากขึ้น ซึ่งจะเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันที่อากาซาวะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่นโวย เครื่องบินขับไล่จีนบินใกล้เครื่องบินลาดตระเวนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความกังวลกับเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ของจีนบินเข้าใกล้เครื่องบินลาดตระเวนของญี่ปุ่นอย่างผิดปกติเมื่อวันที่ 7-8 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยบินเข้ามาใกล้สุดในระยะเพียง 45 เมตรเท่านั้น กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นรายงานว่า ในวันเสาร์ (7 มิ.ย.) เครื่องบินขับไล่ J-15 ของจีน ซึ่งขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินซานตง ได้ไล่ตามเครื่องบินลาดตระเวน P-3C ของญี่ปุ่นเป็นเวลาประมาณ 40 นาที ต่อมาในวันอาทิตย์ (8 มิ.ย.) เครื่องบินขับไล่ J-15 ของจีนได้ไล่ตามเครื่องบินลาดตระเวน P-3C ของญี่ปุ่นเป็นเวลา 80 นาที และบินตัดหน้าที่ระยะห่างเพียง 900 เมตร อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยว่าเครื่องบินในเหตุการณ์ทั้งสองวันเป็นเครื่องบินลำเดียวกันหรือไม่ "เราแสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อฝ่ายจีน และเรียกร้องจีนอย่างจริงจังให้ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก" โยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในวันนี้ (12 มิ.ย.) (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดลบ 248.10 จุด เยนแข็ง-วิตกภาษีกดดันตลาด ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลบในวันนี้ (12 มิ.ย.) หลังบวกติดต่อกัน 4 วัน โดยหุ้นกลุ่มส่งออกได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเรื่องภาษีการค้า สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 38,173.09 จุด ลดลง 248.10 จุด หรือ -0.65% กลุ่มหุ้นที่ราคาลดลงมากที่สุดได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอุปกรณ์การขนส่ง (อินโฟเควสท์)
จีน
จีนเพิ่มอินโดฯ ในโครงการผ่านแดนปลอดวีซ่า 10 วัน ปท.ได้สิทธิ์รวมเป็น 55 ชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติจีนประกาศในวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า จีนเพิ่มอินโดนีเซียในโครงการเดินทางผ่านแดนปลอดวีซ่าระยะเวลา 240 ชั่วโมง ทำให้ขณะนี้มีทั้งหมด 55 ประเทศที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ โดยชาวอินโดนีเซียที่เข้าเงื่อนไขสามารถเดินทางเข้าสู่จีนที่จุดผ่านแดน 60 แห่งใน 24 มณฑล และพำนักอยู่ในจีนได้นานสูงสุด 240 ชั่วโมง หรือ 10 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า ก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนที่จะส่งเสริมการเดินทางและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดบวกเล็กน้อย กังวลการค้าจีน-สหรัฐฯ ไม่แน่นอน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันนี้ (12 มิ.ย.) ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,402.66 จุด เพิ่มขึ้น 0.34 จุด หรือ +0.01% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดร่วง 331.56 จุด จับตาภาษีทรัมป์, PPI สหรัฐฯ, ตะวันออกกลาง ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดร่วงลงในวันนี้ (12 มิ.ย.) หลังสหรัฐฯ เตรียมกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้า ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูล PPI ในวันนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางอีกด้วย ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 24,035.38 จุด ร่วงลง 331.56 จุด หรือ -1.36% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
เกาหลีใต้ส่งออกสินค้า ICT เพิ่มขึ้น 4 เดือนติด รับดีมานด์ชิปแข็งแกร่ง กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนพ.ค. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เกาหลีใต้ส่งออกผลิตภัณฑ์ ICT เพิ่มขึ้น 9.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 2.088 หมื่นล้านดอลลาร์ และรักษาแนวโน้มทางบวกต่อเนื่องมานับตั้งแต่เดือนก.พ. การส่งออกชิปพุ่งขึ้น 21.2% สู่ระดับ 1.380 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากความแข็งแกร่งของอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ชิประดับไฮเอนด์ เช่น ชิปหน่วยความจำ DDR5 และชิปหน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (HBM) ที่ใช้ในชิปปัญญาประดิษฐ์รู้สร้าง (Gen AI) ขณะที่การส่งออกจอแสดงผลลดลง 17.5% สู่ระดับ 1.52 พันล้านดอลลาร์ สวนทางกับยอดส่งออกโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้น 2.8% สู่ระดับ 1.05 พันล้านดอลลาร์ ยอดส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มขึ้น 1.7% สู่ระดับ 1.20 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดส่งออกอุปกรณ์สื่อสารพุ่งขึ้น 10.2% สู่ระดับ 200 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดนำเข้าผลิตภัณฑ์ ICT ขยับขึ้น 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.153 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ส่งผลให้เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้าในอุตสาหกรรม ICT อยู่ที่ระดับ 9.35 พันล้านดอลลาร์ โดยยอดนำเข้าโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าชิปและแผงหน้าจอนั้นลดลงเล็กน้อย (อินโฟเควสท์)
สหรัฐฯ สั่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตในอิรัก กังวลความปลอดภัยตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สั่งอพยพเจ้าหน้าที่บางส่วนออกจากสถานทูตในอิรัก เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศในวันพุธ (11 มิ.ย.) ระบุว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิรัก ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งครอบครัวของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ได้รับคำสั่งให้อพยพจากจากอิรัก เนื่องจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจง แม้ว่าความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่นำไปสู่การออกคำสั่งให้อพยพเจ้าหน้าที่บางส่วนออกจากอิรักยังไม่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่สื่อรายงานว่า อิหร่านเพิ่งขู่ว่าจะโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง หากการเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านล้มเหลว ทั้งนี้ อาซิซ นาซีร์ซาเดห์ รัฐมนตรีกลาโหมอิหร่าน กล่าวเตือนในวันพุธว่า อิหร่านพร้อมโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง หากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ครั้งใหม่กับสหรัฐฯ ล้มเหลว และนำไปสู่เหตุปะทะทางทหาร ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการพอดแคสต์ "Pod Force One" เมื่อวันพุธว่า เขามีความมั่นใจน้อยลงในการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และต่อมาในวันเดียวกัน เมื่อถูกถามว่าเหตุใดครอบครัวของบุคลากรทหารของสหรัฐฯ จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากตะวันออกกลาง ปธน.ทรัมป์กล่าวเพียงว่า "คุณต้องรอดูต่อไป" ทั้งนี้ คาดว่าสตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนของรัฐบาลทรัมป์ในตะวันออกกลาง จะพบกับอับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อเจรจานิวเคลียร์รอบที่หก (อินโฟเควสท์)
โอมานยืนยัน เจรจานิวเคลียร์อิหร่าน-สหรัฐฯ รอบที่ 6 จัดวันอาทิตย์นี้ ซัยยิด บาดร์ บิน ฮามัด บิน ฮามูด อัลบูไซดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโอมาน ประกาศในวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า การเจรจานิวเคลียร์ทางอ้อมรอบที่ 6 ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา มีกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (15 มิ.ย.) ณ กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน รมว.ต่างประเทศโอมานยืนยันกำหนดการดังกล่าวด้วยการโพสต์ข้อความผ่านบัญชี X อย่างเป็นทางการ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โอมานเป็นคนกลางในการเจรจาทางอ้อมระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ มาแล้ว 5 รอบนับตั้งแต่เดือนเม.ย. เพื่อหารือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยในการเจรจาที่ผ่านมานั้น 3 รอบจัดขึ้นที่กรุงมัสกัต และอีก 2 รอบจัดขึ้นที่กรุงโรมของอิตาลี (อินโฟเควสท์)
จับตาอิสราเอลถล่มอิหร่าน หากสหรัฐ-อิหร่านเจรจาคว้าน้ำเหลวอาทิตย์นี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า อิสราเอลเตรียมใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีอิหร่านในอีกไม่กี่วัน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางสหรัฐ ยกเว้นการให้ข่าวกรองที่อาจเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอล โอมานประกาศว่า การเจรจาว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์รอบที่ 6 ระหว่างอิหร่านและสหรัฐมีกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 มิ.ย.ที่กรุงมัสกัต โดยนายสตีฟ วิตคอฟฟ์ ตัวแทนพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ของอิหร่าน ขณะนี้ ยังคงไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลง ขณะที่ปธน.ทรัมป์ยืนยันว่า สหรัฐจะไม่ยอมให้อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ส่วนอิหร่านยืนกรานว่าจะเดินหน้าโครงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รายงานระบุว่า อิสราเอลเตรียมโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน หากการเจรจาระหว่างอิหร่านและสหรัฐประสบความล้มเหลว (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex ดิ่งกว่า 800 จุด กังวลตอ.กลางตึงเครียด ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียดิ่งลงกว่า 800 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ที่จะไม่ขยายเส้นตายในวันที่ 8 ก.ค.ในการผ่อนผันการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อประเทศคู่ค้า ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 81,691.98 ลบ 823.16 จุด หรือ 1.00% หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงนำตลาดวันนี้ นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของอินเดียที่มีการเปิดเผยหลังปิดตลาด (อินโฟเควสท์)
ไทย
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคขาลง! หลังดิ่ง 4 เดือนติด กังวลภาษีทรัมป์-ศก.ฟื้นช้า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนพ.ค.68 อยู่ที่ระดับ 54.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.66 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 48.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 51.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ท่ 62.7 ซึ่งดัชนีฯ ทุกตัว ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นกัน สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 และรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้นโนบายการเงินผ่อนคลาย จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว 2 ครั้งรวม 0.5% แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า และการเข้าถึงสินเชื่อเป็นได้ด้วยความยากลำบาก "การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในอนาคตลดลง หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น และเศรษฐกิจไม่สามารถจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล" นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุ พร้อมมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ลดลงติดต่อกัน 4 เดือนนั้น บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เป็นขาลงแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่มีทิศทางที่สดใส และมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถอดถอยได้ง่ายขึ้น (อินโฟเควสท์)
ไทยใช้สิทธิ FTA ไตรมาส 1/68 มูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลล์ โต 19% เกินคาด นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลการใช้สิทธิ FTA ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.68) มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA รวม 22,001.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 79.75% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.04% โดยเป็นการส่งออกไปยังอาเซียน ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 มูลค่า 7,895.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.07% อันดับ 2 เป็นการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 4,926.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 90.92% อันดับ 3 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 3,908.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 87.11% อันดับ 4 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 1,572.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 74.89% อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 1,346.20ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 56.85% ภาพรวมสินค้า 5 อันดับแรกที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ (1) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผง มูลค่า 1,655.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) ยานยนต์สำหรับขนส่งของอื่น ๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน มูลค่า 1,588.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มูลค่า 857.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผงอื่น ๆ มูลค่า 760.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (5) น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่น ๆ มูลค่า 473.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อินโฟเควสท์)
แพทยสภา ยืนมติเดิมกรณีฟันโทษ 3 หมอปมรักษา "ทักษิณ" ชั้น 14/จ่อลงโทษเพิ่มอีก ที่ประชุมแพทยสภามีมติเกิน 2 ใน 3 ยืนยันมติเดิมเมื่อวันที่ 8 พ.ค.68 ให้ลงโทษแพทย์ 3 รายที่เกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ หลังมีมติยับยั้งจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ "ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือยับยั้งมติแพทยสภาแล้ว โดยมีกรรมการที่มีสิทธิลงคะแนนมาร่วมประชุม 68 คน จาก 69 คน ได้พิจารณาการยับยั้งมติแพทยสภาของสภานายกพิเศษ มีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่มีสิทธิลงคะแนนทั้งคณะ ยืนยันตามมติเดิมของคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ 8 พ.ค." นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง แถลง ทั้งนี้คาดว่านายกแพทยสภาจะได้ลงนามในคำสั่งเพื่อแจ้งผลการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบภายในวันพรุ่งนี้ นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขั้นตอนการประชุมวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่สภานายกพิศษใช้สิทธิวีโต้ก็ได้รับฟัง ซึ่งคณะกรรมการฯ ทุกคนได้รับเอกสารเหตุผลที่วีโต้ และได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบให้คณะกรรมการฯ ได้เห็นชัดเจนและใช้ดุลยพินิจด้วยตัวเอง ดำเนินการอย่างโปร่งใส กรณีที่มีการหยิบยกกระบวนการสอบสวนด้านจริยธรรมของแพทย์มาเปรียบเทียบกับกับวิชาชีพอื่นนั้นอาจไม่เหมาะสม ส่วนกรณีแชทไลน์หลุดก่อนหน้าที่แพทยสภาไม่ได้ออกมาตอบโต้ เพราะเห็นว่าเป็นไลน์ส่วนตัว ไม่ใช่ไลน์กลุ่มของแพทยสภา และไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาของแพทยสภาที่ยึดความถูกต้องและหลักฐานต่าง ๆ ไม่อิงกับปัจจัยภายนอก และไม่สนใจว่าผู้ป่วยดังกล่าวเป็นใคร นพ.ประสิทธิ์ ยืนยันว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของแพทยสภา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์รุ่นใหม่หรือแพทย์รุ่นเดิม ต่างได้รับการอบรมสั่งสอนมาเหมือนกัน มีความเข้าใจในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่ (อินโฟเควสท์)
ป.ป.ช.ปัดข่าวเตะถ่วงคดีบังคับโทษ "ทักษิณ" ยันส่งคำชี้แจงให้ศาลฯแล้ว กรณีมีข่าวเกี่ยวกับคดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัดไต่สวนคดีครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) ตามที่หลายฝ่ายจับตาว่าอาจมีคำสั่งเด็ดขาด แต่อาจกลายเป็นว่ายังไปไม่ถึงไหน เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังส่งเอกสารไม่ครบนั้น นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล รองเลขาธิการป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า การเผยแพร่ข่าวดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช.จัดส่งคำแถลง/คำชี้แจง พร้อมเอกสารประกอบไปยังศาลฎีกาฯ แล้ว และศาลฎีกาฯ ได้รับคำแถลง/คำชี้แจง (คำร้องของโจทก์ (ป.ป.ช.) เพื่อประกอบการพิจารณา) แล้ว โดยศาลฎีกาฯ ไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องใดอีก ดังนั้นคณะผู้แทนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงเดินทางไปศาลฎีกาฯ ในวันที่ 13 มิ.ย.68 ตามกำหนดนัดเช่นเดิม (อินโฟเควสท์)
ศาลรธน.ให้อัยการสูงสุดแจงคืบหน้าปม "ณฐพร" ร้องเช็คบิล "กกต.-ภท." ฮั้วเลือก สว. ใน 15 วัน ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งความคืบหน้ากรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปยื่นคำร้องให้สอบสวนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เป็นโปโดยสุจริตและเที่ยงธรรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.), กรรมการบริหารพรรค ภท., สว.จำนวนหนึ่งตามสำนวนการสอบสวนของ กกต., นายเนวิน ชิดชอบ, นางกรุณา ชิดชอบ, นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก, นายศุภชัย โพธิ์สุ, น.ส.วาริน ชิณวงศ์, นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ และ นายสุบิน ศักดา ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือก สว.ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบภายใน 15 วัน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนายณฐพร อ้างว่าได้ยื่นคำร้องในเรื่องดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.68 แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการใด ๆ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญ จึงนำเรื่องมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (อินโฟเควสท์)
ออมสิน มั่นใจปีนี้ช่วยกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินเชื่อทะลุ 1 ล้านราย แก้หนี้กว่า 9.2 แสนบัญชี นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คาดว่า ภายในปี 2568 ธนาคารออมสิน จะสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือบุคคลในกลุ่ม Unserved - Underserved ที่ยังมีการพึ่งพาแหล่งเงินนอกระบบ และการให้สินเชื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่กลุ่มเปราะบาง ได้กว่า 1 ล้านรายตามเป้าหมาย รวมถึงความสำเร็จด้านการแก้หนี้ ที่คาดว่าจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ธนาคารริเริ่มดำเนินการ และที่เป็นมาตรการตามนโยบายรัฐบาล รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 920,000 บัญชีลูกหนี้ สำหรับนวัตกรรมการเงินเพื่อสังคมของธนาคาร ที่ช่วยสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบสถาบันการเงิน ประกอบด้วย 1) สินเชื่อสร้างเครดิตสร้างโอกาส สำหรับผู้ไม่มีประวัติเครดิตการเงิน อนุมัติแล้ว 150,000 ราย 2) สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ อนุมัติแล้ว 240,000 ราย 3) สินเชื่อต้อนรับเปิดเทอม อนุมัติแล้ว 110,000 ราย รวมถึงการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย/ฐานราก ได้แก่ สินเชื่อธนาคารประชาชน สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ อนุมัติแล้ว 120,000 ราย รวมจำนวนผู้ได้รับสินเชื่อแล้วทั้งสิ้น 620,000 ราย (ข้อมูล ณ เดือนพ.ค.68) สำหรับภารกิจการแก้หนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ "โครงการคุณสู้ เราช่วย" ซึ่งธนาคารเป็นผู้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนตามนโยบายกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย/SMEs ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของสถาบันการเงินของรัฐ และลูกหนี้กลุ่ม Non-Bank โดยสามารถช่วยเหลือลูกหนี้แล้วกว่า 190,000 ราย จำนวน 300,000 บัญชีลูกหนี้ คิดเป็น 33% ของผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันทั้งระบบ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.68) (อินโฟเควสท์)
ธ.ก.ส. รอเคาะเกณฑ์แฮร์คัตแก้หนี้กลุ่มผู้สูงอายุราว 5 พันลบ. นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับกระทรวงการคลัง โดยเบื้องต้นน่าจะดำเนินการกับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และมีสถานะเป็นหนี้เรื้อรังก่อน อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการทั้งหมด จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง ดังนั้น จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการ วิธีการอย่างชัดเจนออกมาก่อน ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกค้าที่อายุ 70 ปีขึ้นไป และทุกบัญชีของผู้กู้แต่ละรายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประมาณหลักหมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะต้องรอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำหนดให้ชัดเจน โดยเฉพาะนิยามของคำว่า "หนี้เรื้อรัง" ว่าผู้ที่เข้าข่ายแฮร์คัตตามแนวทางนี้จะมีเกณฑ์เป็นอย่างไร เช่น ลูกหนี้อายุ 80 ปี แต่ยังปิดหนี้ไม่ได้ ยังมีภาระหนี้อยู่ ลักษณะนี้ถือว่าเข้าข่ายนิยามของคำว่าหนี้เรื้อรังชัดเจน แต่ท้ายที่สุดคงต้องรอความชัดเจนจากสศค. ก่อนจะสรุป และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ส่วนภาพรวมการดำเนินงานของธ.ก.ส. ปัจจุบัน มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.67 ล้านล้านบาท โดยในปีบัญชี 2568 (เม.ย. 68-มี.ค. 69) ธนาคารมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 30,000-50,000 ล้านบาท ขณะที่ NPL ปัจจุบันอยู่ที่ 5.31% โดยแนวโน้มในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นต่ำกว่าแผน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังดำเนินการอยู่ และการพัฒนาระบบติดตามหนี้ รวมถึงลูกค้าเริ่มมีการปรับพฤติกรรมการชำระหนี้ เมื่อมีกระแสรายได้เข้ามาก็จ่ายหนี้ทันทีโดยไม่รอจนกระทั่งครบกำหนดชำระ ในส่วนของบัญชีทั้งปี 68 ประเมินว่า NPL ของธนาคารจะอยู่ที่ราว 5.5% บวกลบ ซึ่งยืนยันว่า งบดุลของธนาคารสามารถรองรับได้ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดร่วง 12.95 จุด เจอ Sell on Fact หลังปิดดีลเจรจาจีน-สหรัฐ การเมืองอึมครึมกดดัน SET ปิดวันนี้ที่ 1,128.62 จุด ลดลง 12.96 จุด (-1.14%) มูลค่าซื้อขาย 32,483.12 ล้านบาท นักวิเคราะห์ เผยตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงตามตลาดภูมิภาค และดาวน์โจนส์ฟิวเจอร์ส เผชิญแรงขาย Sell on Fact หลังสรุปผลเจรจาการค้าจีนและสหรัฐในเบื้องต้น ขณะที่การเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจนเป็นปัจจัย กดดันบรรยากาศการลงทุน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.ยังปรับลงต่อเนื่อง แนวโน้มวันพรุ่งนี้แกว่งไซด์เวย์ดาวน์ ให้แนวรับที่ 1,120 จุด แนวต้านที่ 1,135 จุด (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 32.47 แข็งค่าต่อเนื่องตามภูมิภาค คาดกรอบพรุ่งนี้ 32.40-32.60 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 32.47 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.55 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.41-32.56 บาท/ดอลลาร์ วันนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค โดยตลาดย่อยข่าวตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ สำหรับคืนนี้ ตลาดรอดูตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40 - 32.60 บาท/ดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 125,253 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 125,253 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 12,865 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 1,644 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 1,636 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.52% ปรับตัวลดลงจากเมื่อวาน -0.01% (อินโฟเควสท์)
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ญี่ปุ่น
- อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. เยอรมนี
- อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ฝรั่งเศส
- ดัชนีควาชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐฯ