สหรัฐฯ
ม.มิชิแกนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงกว่าคาดในเดือนมิ.ย. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 15.9% สู่ระดับ 60.5 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 54.0 ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการทำสงครามการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่อนผันการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อประเทศคู่ค้าออกไปเป็นเวลา 90 วัน ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 5.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนพ.ค.ที่ระดับ 6.6% นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนพ.ค.ที่ระดับ 4.2% (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์" อาจขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีก หวังดึงนักลงทุนตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ว่า เขาอาจปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีกในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อพยายามดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ มากขึ้น ทรัมป์กล่าว ณ ทำเนียบขาวว่า "ผมอาจปรับขึ้นภาษีศุลกากรอีกในอนาคตอันใกล้นี้ ยิ่งสูงเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทำให้พวกเขามาตั้งโรงงานที่นี่มากขึ้น" ทรัมป์ย้ำว่า การผลิตทั้งหมดในสหรัฐฯ กำลังพุ่งสูงขึ้นจากอานิสงส์ของการเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นในอัตรา 25% ที่รัฐบาลของเขาเรียกเก็บในช่วงต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทรัมป์จะเอาจริงเอาจังมากเพียงใดกับแผนดังกล่าว เนื่องจากเขาพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างกะทันหันระหว่างพิธีลงนามยับยั้งกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งต้องการยุติการขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2578 สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งจากต่างประเทศและในอเมริกาเองต่างได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สูงของทรัมป์ ทั้งนี้ การเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 25% กับรถยนต์ทุกรุ่นที่ผลิตนอกสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ทำให้ภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 27.5% ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ รวมถึงบริษัทรถยนต์อเมริกันเองด้วย ถ้อยแถลงล่าสุดของทรัมป์มีขึ้นหนึ่งวันก่อนที่หัวหน้าคณะผู้เจรจาภาษีศุลกากรของญี่ปุ่นจะเดินทางมาถึงกรุงวอชิงตันเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งญี่ปุ่นเรียกการหารือนี้ว่าเป็น "การเจรจาเข้มข้น" ก่อนการประชุมสุดยอดที่มีการวางแผนไว้ระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ (อินโฟเควสท์)
ทรัมป์สั่งหยุดกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายในฟาร์ม-โรงแรม-ร้านอาหาร รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหยุดจับกุมแรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานในฟาร์ม โรงแรม และร้านอาหาร ท่ามกลางความกังวลว่านโยบายปราบปรามผู้อพยพอาจสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ สำนักข่าวซีบีเอสนิวส์รายงานในวันเสาร์ (14 มิ.ย.) โดยอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้พึ่งพาแรงงานผู้อพยพเป็นส่วนใหญ่ และแรงงานจำนวนมากอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย โดยทรัมป์เข้าแทรกแซงเรื่องนี้หลังจากตระหนักว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดของเขาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการเกษตรและการบริการ หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า เททัม คิง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ICE) ได้สั่งให้หยุดกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายผ่านทางอีเมลภายในองค์กร โดยระบุว่า "กรุณาระงับการสอบสวน/การบังคับใช้กฎหมายในสถานที่ทำงานทั้งหมดในภาคเกษตรกรรม (รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์) ร้านอาหาร และโรงแรม มีผลตั้งแต่วันนี้" สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ ICE ได้เพิ่มความเข้มข้นในการบุกค้นสถานที่ทำงานทั่วประเทศ เพื่อจับกุมและส่งตัวผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารกลับประเทศ ซึ่งการปราบปรามผู้อพยพได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในหลายเมืองของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครลอสแอนเจลิส รายงานระบุว่า แม้ว่า ICE หยุดกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมข้างต้น แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิต (อินโฟเควสท์)
กองทัพบกสหรัฐฯ สวนสนามครั้งใหญ่ ขณะชาวมะกันชุมนุมต้านทรัมป์ทั่วประเทศ กองทัพบกสหรัฐฯ จัดพิธีสวนสนามใจกลางกรุงวอชิงตันในวันเสาร์ (14 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ตรวจพลสวนสนาม พิธีนี้จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 250 ปีของกองทัพบกสหรัฐฯ และตรงกับวันเกิดปีที่ 79 ของปธน.ทรัมป์พอดี ทหารราว 6,700 นาย พร้อมยานยนต์หุ้มเกราะราว 200 คัน รวมถึงรถถังและเครื่องบิน ได้เข้าร่วมขบวนพาเหรดที่จัดขึ้นบริเวณเนชั่นแนลมอลล์ โดยคาดว่าการจัดพิธีครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายโดยประมาณสูงถึง 45 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนที่แล้ว ปธน.ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีว่า วันเกิดของเขา "บังเอิญ" ตรงกับวันจัดพิธีสวนสนามพอดี การจัดพิธีสวนสนามเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในนครลอสแอนเจลิส โดยผู้คนจำนวนมากได้ออกมาประท้วงต่อต้านนโยบายปราบปรามผู้อพยพของรัฐบาลทรัมป์ ขณะที่สื่อรายงานว่า ในวันเสาร์ ประชาชนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายของทรัมป์ตามสถานที่ต่าง ๆ ราว 2,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สองเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์สั่งให้ส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของรัฐแคลิฟอร์เนียไปประจำการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ว่าการรัฐ รวมทั้งส่งนาวิกโยธินอีก 700 นายไปยังนครลอสแอนเจลิส แกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลกลาง ซึ่งต่อมา ชาร์ลส์ เบรเยอร์ ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ ซึ่งประจำอยู่ในนครซานฟรานซิสโก มีคำสั่งชั่วคราวเมื่อวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ห้ามรัฐบาลทรัมป์ส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้าควบคุมสถานการณ์ในนครลอสแอนเจลิส โดยระบุว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ พร้อมสั่งให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิกลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของนิวซัม โดยคำสั่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงวันศุกร์ (13 มิ.ย.) หลังมีคำสั่งดังกล่าว คณะบริหารของทรัมป์ได้ยื่นอุทธรณ์ทันที (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 769.83 จุด หลังอิหร่านยิงขีปนาวุธตอบโต้อิสราเอล ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดในวันศุกร์ (13 มิ.ย.) หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธเข้าใส่อิสราเอลเพื่อตอบโต้การโจมตีอย่างรุนแรงของอิสราเอลที่มุ่งสกัดศักยภาพของอิหร่านในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,197.79 จุด ลดลง 769.83 จุด หรือ -1.79%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,976.97 จุด ลดลง 68.29 จุด หรือ -1.13% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,406.83 จุด ลดลง 255.66 จุด หรือ -1.30% ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 1.3%, ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.4% และดัชนี Nasdaq ลดลง 0.6% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่งกว่า 7% หลังสงครามอิสราเอล-อิหร่านปะทุ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 7% ในวันศุกร์ (13 มิ.ย.) หลังจากอิสราเอลและอิหร่านโจมตีทางอากาศโต้ตอบกัน ซึ่งจุดชนวนความกังวลของนักลงทุนว่า ความขัดแย้งอาจกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจากตะวันออกกลางในวงกว้าง ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 4.94 ดอลลาร์ หรือ 7.26% ปิดที่ 72.98 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 4.87 ดอลลาร์ หรือ 7.02% ปิดที่ 74.23 ดอลลาร์/บาร์เรล (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์แข็งค่า สงครามตะวันออกกลางปะทุหนุนแรงซื้อ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (13 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางทวีความรุนแรง ภายหลังอิสราเอลโจมตีอิหร่าน ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.27% แตะที่ระดับ 98.184 (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดพุ่ง $50.40 อิสราเอลรบอิหร่านหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 50 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (13 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนแห่เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่อิหร่าน ซึ่งจุดกระแสความกังวลว่าความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจลุกลาม ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 50.40 ดอลลาร์ หรือ 1.48% ปิดที่ 3,452.80 ดอลลาร์/ออนซ์ (อินโฟเควสท์)
บอนด์ยีลด์ดีดตัว รับข่าวอิสราเอลโจมตีอิหร่าน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ต่ออิหร่าน ณ เวลา 18.59 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.359% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.845% (อินโฟเควสท์)
ยุโรป
ยอดขายรถ EV ทั่วโลกพุ่ง 24% เดือนพ.ค. อานิสงส์ดีมานด์ในจีนโตแกร่ง โร โมชัน (Rho Motion) บริษัทวิจัยตลาดจากสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 24% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 1.6 ล้านคัน โดยยอดขายที่แข็งแกร่งในจีนช่วยชดเชยการเติบโตที่ชะลอตัวลงในอเมริกาเหนือ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเพิ่มขึ้นกว่า 24% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 1.02 ล้านคันในเดือนพ.ค. ทำสถิติทะลุ 1 ล้านคันเป็นเดือนแรกในปีนี้ ด้วยดีมานด์ที่แข็งแกร่งภายในประเทศ รวมถึงความพยายามส่งออกของค่ายรถจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ ด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปเพิ่มขึ้น 36.2% สู่ระดับ 330,000 คัน ขณะที่ในอเมริกาเหนือขยับขึ้น 7.5% แตะ 160,000 คัน ส่วนยอดขายในภูมิภาคที่เหลือทั่วโลกเพิ่มขึ้น 38% แตะระดับ 150,000 คัน (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง วิตกอิสราเอล-อิหร่านปะทะเดือด ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันศุกร์ (13 มิ.ย.) หลังการโจมตีครั้งใหญ่ของอิสราเอลต่ออิหร่านทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างกว้างขวาง และหันไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลกที่ไม่แน่นอนซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดอยู่แล้ว ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 544.94 จุด ลดลง 4.90 จุด หรือ -0.89% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,684.68 จุด ลดลง 80.43 จุด หรือ -1.04%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,516.23 จุด ลดลง 255.22 จุด หรือ -1.07% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,850.63 จุด ลดลง 34.29 จุด หรือ -0.39% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 34.29 จุด วิตกความตึงเครียดอิสราเอล-อิหร่าน ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (13 มิ.ย.) โดยถูกกดดันจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น หลังจากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่าน อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นช่วยจำกัดการร่วงของดัชนี ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,850.63 จุด ลดลง 34.29 จุด หรือ -0.39% (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่น
ทรัมป์-อิชิบะ ยกหูหารือสถานการณ์ตอ.กลาง-ภาษี ก่อนพบปะที่แคนาดาสัปดาห์หน้า ผู้นำญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้สนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ (13 มิ.ย.) โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่าน ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงค่ำวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐฯ และตรงกับช่วงเช้าวันศุกร์ในตะวันออกกลางและเอเชีย ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาการติดต่ออย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อรับมือกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ในเวลาเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ได้แสดงจุดยืนของญี่ปุ่นต่อประเด็นภาษี โดยย้ำว่า ท่าทีของญี่ปุ่นนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการหารือกับสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา และยังเห็นพ้องกับผู้นำสหรัฐฯ ว่า ควรเร่งเจรจาระหว่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันข้อตกลงที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน การเจรจาทางโทรศัพท์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังมีความเห็นต่างเกี่ยวกับมาตรการภาษี โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้การขู่เก็บภาษีเป็นกลยุทธ์ทางการค้า โดยญี่ปุ่นมองว่า ไม่ควรมีการทำข้อตกลงแบบบางส่วน และเรียกร้องให้มีการทบทวนมาตรการอย่างครอบคลุม ญี่ปุ่นยังประณามการโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่านโดยมองว่าเป็นการยกระดับสถานการณ์ให้ตึงเครียดมากขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ กลับระบุว่าเป็นการกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว และยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์นี้ ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ได้ออกมายืนยันว่าการหารือระหว่างทรัมป์กับอิชิบะเกิดขึ้นจริงเมื่อวันศุกร์ และระบุว่า ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องในความสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ สองผู้นำมีกำหนดจะพบกันนอกรอบการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่แคนาดาในสัปดาห์หน้า ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ประเด็นภาษีและตะวันออกกลางจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพิ่มเติม (อินโฟเควสท์)
ญี่ปุ่นลุยเจรจารอบ 6 หวังสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ เรียวเซ อากาซาวะ หัวหน้าคณะเจรจาด้านภาษีศุลกากรของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (13 มิ.ย.) ว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากชาติอื่น ๆ หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้แล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มเติม อากาซาวะกล่าวที่สนามบินฮาเนดะ ก่อนออกเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรในระดับรัฐมนตรีเป็นรอบที่ 6 ว่า "เมื่อการเจรจาทวิภาคีได้ข้อสรุปแล้ว ผมคิดว่าญี่ปุ่นจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากกฎระเบียบที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับชาติอื่น ๆ" ทรัมป์กล่าวในวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) ว่า เขาอาจขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ เขายังยืนยันว่า การผลิตทั้งหมดในสหรัฐฯ กำลังพุ่งสูงขึ้นจากอานิสงส์ของการเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นในอัตรา 25% ที่รัฐบาลของเขาเรียกเก็บในช่วงต้นปีนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นกำลังหลักของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบมากขึ้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อากาซาวะจะเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตันเป็นครั้งที่ 4 ในรอบหลายสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความคืบหน้าในการเจรจา ก่อนการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ กับทรัมป์ นอกรอบการประชุมกลุ่ม G7 ที่แคนาดาในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของการหารือจะมุ่งเน้นไปที่การที่ญี่ปุ่นจะสามารถขอยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ ได้หรือไม่ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เรียกร้องให้ยกเลิกภาษีเพิ่มเติมในภาคส่วนอื่น ๆ ตลอดจนภาษีตอบโต้ ในขณะที่ทรัมป์กำลังพยายามลดยอดขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นโตเกียว: นิกเกอิปิดลบ 338.84 จุด นลท.ขายหุ้นหนีความเสี่ยงหลังอิสราเอลถล่มอิหร่าน ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลบในวันนี้ (13 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง หลังกองทัพอิสราเอลโจมตีเป้าหมายทางนิวเคลียร์และทางทหารของอิหร่าน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 37,834.25 จุด ลดลง 338.84 จุด หรือ -0.89% (อินโฟเควสท์)
จีน
ภาวะตลาดหุ้นจีน: เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดลบ 25.66 จุด วิตกข่าวอิสราเอลโจมตีอิหร่าน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบในวันนี้ (13 มิ.ย.) ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่าน โดยการโจมตีดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่การเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ จะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (15 มิ.ย.) ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,377.00 จุด ลดลง 25.66 จุด หรือ -0.75% (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นฮ่องกง: ฮั่งเส็งปิดลบ 142.82 จุด วิตกตะวันออกกลางตึงเครียด ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ (13 มิ.ย.) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังจากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่าน แม้ว่าสหรัฐฯ และอิหร่านกำลังจะจัดการเจรจานิวเคลียร์รอบที่ 6 ที่ประเทศโอมานในวันอาทิตย์นี้ (15 มิ.ย.) ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดที่ระดับ 23,892.56 จุด ลดลง 142.82 จุด หรือ -0.59% (อินโฟเควสท์)
เอเชีย และอื่นๆ
เกาหลีใต้ชี้เศรษฐกิจยังเจอแรงกดดันขาลง เหตุสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า ฉุดส่งออกชะลอตัว กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ (13 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจเกาหลียังคงเผชิญกับแรงกดดันในช่วงขาลง เนื่องจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่เป็นไปอย่างล่าช้า กระทรวงฯ ระบุในรายงานรายเดือน "กรีนบุ๊ก" (Green Book) ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังเผชิญแรงกดดันขาลง โดยเฉพาะการส่งออกชะลอตัว อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ภายนอกที่เลวร้ายลงเนื่องจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่ภาคการบริโภคและการลงทุนด้านการก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัวตามคาด และยังคงมีปัญหาการจ้างงานโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังกังวลว่า ความไม่แน่นอนจากภายนอก โดยเฉพาะความตึงเครียดด้านการค้าจากนโยบายภาษี อาจยิ่งเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก และส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ ยอดส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวลง 1.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดส่งออกเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้น 1.0% ยอดค้าปลีก ซึ่งสะท้อนการบริโภคภาคเอกชน ลดลง 0.9% ในเดือนเม.ย. ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างลดลง 0.7% ในเดือนเดียวกัน การจ้างงานเพิ่มขึ้น 245,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.2% เหลือ 2.8% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวหลังจากเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนเม.ย. (อินโฟเควสท์)
เวียดนามสั่งขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ 90% หวังลดการดื่ม-ใส่ใจสุขภาพประชาชน รัฐสภาเวียดนามมีมติเห็นชอบในวันนี้ (14 มิ.ย.) ให้เพิ่มภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอัตราปัจจุบันที่ 65% เป็น 90% ภายในปี 2574 ซึ่งเป็นมาตรการที่อาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุตสาหกรรม แม้ว่าจะไม่สูงถึงระดับ 100% ตามที่เสนอไว้ในเบื้องต้นเมื่อปีที่ผ่านมา ภายใต้กฎหมายใหม่ เบียร์และสุราที่มีแอลกอฮอล์สูงจะถูกปรับอัตราภาษีขึ้นเป็น 70% ภายในปี 2570 ซึ่งล่าช้ากว่าข้อเสนอเดิมหนึ่งปี จากนั้นจะขยับขึ้นเป็น 90% ภายในปี 2574 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบต่อการจัดเก็บภาษีใหม่ 8% สำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2570 และจะเพิ่มเป็น 10% ในปี 2571 ข้อมูลจากรายงานของเคพีเอ็มจี (KPMG) ที่เผยแพร่ในปี 2567 ระบุว่า เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การขึ้นภาษีในครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม กระทรวงการคลังเวียดนามให้เหตุผลว่า การเพิ่มภาษีเป็นแนวทางในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน สมาคมเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเวียดนามเปิดเผยว่า รายได้ของอุตสาหกรรมนี้ลดลงติดต่อกันมาแล้ว 3 ปี ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ความกังวลของอุตสาหกรรมยังสะท้อนผ่านกรณีของไฮเนเก้น (Heineken) ที่ตัดสินใจระงับการดำเนินงานของโรงเบียร์แห่งหนึ่งในเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีแผนเสนอขึ้นภาษีดังกล่าว (อินโฟเควสท์)
กัมพูชายื่นฟ้องศาลโลกแล้ว ปมพิพาทชายแดนไทย ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยในวันนี้ (15 มิ.ย.) ว่า กัมพูชาได้ยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการหลักขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อขอให้ศาลหาทางออกเกี่ยวกับข้อพิพาทบริเวณชายแดน 4 จุดกับประเทศไทย สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฮุน มาเนต กล่าวว่า กัมพูชาต้องการความชัดเจนในการกำหนดเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้คนรุ่นหลังไม่ต้องประสบปัญหากันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฮุน มาเนต มีถ้อยแถลงดังกล่าวในขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) กำลังจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ (อินโฟเควสท์)
อิหร่าน-สหรัฐฯ ยกเลิกเจรจานิวเคลียร์วันนี้ หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตี ซัยยิด บาดร์ บิน ฮามัด บิน ฮามูด อัลบูไซดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโอมาน เปิดเผยในวันสาร์ (14 มิ.ย.) ว่า การเจรจานิวเคลียร์ทางอ้อมรอบที่ 6 ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (15 มิ.ย.) ณ กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน "จะไม่เกิดขึ้น" อย่างไรก็ดี รมว.ต่างประเทศโอมานโพสต์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ว่า การทูตและการเจรจายังคงเป็นหนทางเดียวที่จะบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่อิสราเอลเปิดฉากโจมตีฐานทัพและโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก่อให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคจะทวีความรุนแรงขึ้น ในเช้าวันศุกร์ (13 มิ.ย.) อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน และเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ การผลิตขีปนาวุธ และศักยภาพทางทหารของอิหร่าน ต่อมาในคืนวันศุกร์ อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธชุดใหญ่โจมตีเป้าหมายทางทหารในอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้ ในวันเสาร์ ซัยยิด อับบาส อารักชี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ได้หารือทางโทรศัพท์กับคายา คัลลาส หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) โดยได้เน้นย้ำว่า การเจรจาทางอ้อมระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ท่ามกลาง "ความโหดร้ายอย่างต่อเนื่อง" ของอิสราเอลนั้น เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกัน เอสมาอีล บากาอี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวว่า "ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จุดสนใจหลักของเราอยู่ที่การเผชิญหน้ากับการรุกรานของศัตรู" ทั้งนี้ โอมานเป็นคนกลางในการเจรจานิวเคลียร์ทางอ้อมระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ มาแล้ว 5 รอบนับตั้งแต่เดือนเม.ย. เพื่อหารือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยในการเจรจาที่ผ่านมานั้น 3 รอบจัดขึ้นที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน และอีก 2 รอบจัดขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี (อินโฟเควสท์)
IEA จับตาสงครามอิสราเอล-อิหร่าน พร้อมระบายน้ำมันสำรอง หากจำเป็น สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานทั่วโลก เปิดเผยว่า IEA กำลังจับตาสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน โดย IEA พร้อมระบายน้ำมันสำรองเข้าสู่ตลาด หากมีความจำเป็น "IEA กำลังติดตามผลกระทบต่อตลาดน้ำมันจากความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันตลาดยังคงมีปริมาณน้ำมันอย่างเพียงพอ แต่เราก็พร้อมที่จะดำเนินการหากจำเป็น" นายฟาติห์ บิโรล ผู้อำนวยการ IEA กล่าว ทั้งนี้ IEA มีปริมาณน้ำมันสำรองฉุกเฉินอยู่ราว 1.2 พันล้านบาร์เรล ขณะที่อิหร่านมีกำลังการผลิตน้ำมัน 3.305 ล้านบาร์เรล/วัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เรียกร้องให้อิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ "ก่อนที่จะไม่มีอะไรเหลือ" ปธน.ทรัมป์เตือนอิหร่านดังกล่าว เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอิสราเอลทำการโจมตีอิหร่าน อิสราเอลระบุว่าการโจมตีครั้งนี้มีเป้าหมายที่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ขณะที่สหรัฐยืนยันว่า ได้รับแจ้งจากอิสราเอลเกี่ยวกับการโจมตีในครั้งนี้ แต่สหรัฐไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวแต่อย่างใด (อินโฟเควสท์)
"ทรัมป์-ปูติน" ลั่น สงครามอิสราเอล-อิหร่านต้องยุติได้แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในวันเสาร์ (14 มิ.ย.) เกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยทั้งคู่เห็นพ้องกันว่า "สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านต้องยุติได้แล้ว" ทรัมป์โพสต์เกี่ยวกับปูตินผ่านทางทรูธโซเชียลว่า "เขารู้สึกเช่นเดียวกันกับผมว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านต้องยุติได้แล้ว" และเสริมว่า ปูตินรู้จักอิหร่าน "เป็นอย่างดี" ในระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ประมาณ 1 ชั่วโมง ทรัมป์ได้กล่าวกับปูตินว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ควรยุติลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องรัสเซียกับยูเครนมากนัก แต่จะมีการคุยกันเรื่องนี้ต่อในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทรัมป์เปิดเผยว่า ปูตินได้อวยพรวันเกิดเขาระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ด้วย โดยวันที่ 14 มิ.ย. เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 79 ของทรัมป์ ทั้งนี้ อิสราเอลและอิหร่านยังคงโจมตีกันไปมาอย่างหนักหน่วงเป็นวันที่สามในวันนี้ (15 มิ.ย.) โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการหยุดยิง ส่งผลให้มีความกังวลมากขึ้นว่าจะเกิดความขัดแย้งในวงกว้างในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของโลก (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Sensex ร่วงกว่า 500 จุด กังวลสถานการณ์ตอ.กลาง ดัชนี Sensex ตลาดหุ้นอินเดียดิ่งลงกว่า 500 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ต่ออิหร่าน ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 81,118.60 ลบ 573.38 จุด หรือ 0.70% (อินโฟเควสท์)
ไทย
ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดลบ 5.92 จุด รับความตึงเครียดตอ.กลางกดดันหุ้นโลก-ปัจจัยลบ AOT ฉุด เก็งสัปดาห์หน้ายังผันผวน SET ปิดวันนี้ที่ 1,122.70 จุด ลดลง 5.92 จุด (-0.52%) มูลค่าซื้อขาย 42,301.91 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯเผยตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงตามทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ตอบรับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางหลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่าน ประกอบกับแรงกดดันจาก AOT ที่มีประเด็นเฉพาะตัว แต่ยังได้หุ้นน้ำมันข่วงพยุง แนวโน้มสัปดาห์หน้าคาดยังผันผวน พร้อมให้แนวต้าน 1,130-1,140 จุด แนวรับ 1,100-1,110 จุด SET ปิดวันนี้ที่ 1,122.70 จุด ลดลง 5.92 จุด (-0.52%) มูลค่าซื้อขาย 42,301.91 ล้านบาท การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีปรับตัวลงและเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยทำจุดต่ำสุด 1,118.59 จุด และทำจุดสูงสุดที่ 1,127.29 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 132 หลักทรัพย์ ลดลง 351 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง173 หลักทรัพย์ (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดตราสารหนี้: วันนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวม 92,723 ล้านบาท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำวันนี้ มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวันอยู่ที่ 92,723 ล้านบาท ด้านประเภทของนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1. กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิ 8,856 ล้านบาท 2. กลุ่มบริษัทประกัน ซื้อสุทธิ 1,586 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 275 ล้านบาท Yield พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.52% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อวาน ภาพรวมของตลาดในวันนี้ Yield Curve ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย สำหรับกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติวันนี้ NET OUTFLOW 275 ล้านบาท โดยเกิดจาก NET SELL 275 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ (Expired) ด้านปัจจัยต่างประเทศ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (Headline PPI) ประจำเดือนพ.ค. ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. (YoY) สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.5% ในเดือนเม.ย. ขณะที่รายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 248,000 ราย สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 244,000 ราย สำหรับ Holding ของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นสัปดาห์นี้ปรับลดลง 8,661 ล้านบาท จาก 924,965 ล้านบาท ในสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 916,304 ล้านบาท ทั้งนี้ตลาดติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า (อินโฟเควสท์)
ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 32.44 ระหว่างผันผวน ก่อนกลับมาอ่อนค่า คาดกรอบสัปดาห์หน้า 32.30-32.60 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 32.44 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 32.36 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคหลังดอลลาร์กลับมาปรับตัวแข็งค่า ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.35 - 32.51 บาท/ดอลลาร์ "วันนี้บาทผันผวนตามสถานการณ์ข่าวในตะวันออกกลางที่เป็นแรงกดดันต่อราคาพลังงานมากกว่าราคาทอง" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันจันทร์ไว้ที่ 32.30 - 32.60 บาท/ดอลลาร์ โดยช่วงวันหยุดต้องติดตามสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลประกาศที่จะปฏิบัติการต่อเนื่องเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ (อินโฟเควสท์)
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ราคาบ้านเดือนพ.ค. จีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. จีน
ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. จีน
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนพ.ค. จีน
อัตราว่างงานเดือนพ.ค. จีน
ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมิ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก สหรัฐฯ